บทความพิเศษจาก นสพ.สยามกีฬา กับเรื่องราวของแชมป์หญิงเดี่ยว รุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี ในการแข่งขันเทนนิสเยาวชนเพื่อความชนะเลิศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 56 

Written by LTAT Admin

บทความพิเศษจาก นสพ.สยามกีฬา กับเรื่องราวของแชมป์หญิงเดี่ยว รุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี ในการแข่งขันเทนนิสเยาวชนเพื่อความชนะเลิศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 56
.
“แพ็ตตี้-พิมพ์รดา”ดาวรุ่งมาแรง
คว้าแชมป์ประเทศไทยในวัย 15 ปี

ความพิเศษของศึกเทนนิสเยาวชนเพื่อความชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี 2561 ชิงถ้วยพระราชทาน “คิงส์คัพ” ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เพิ่งปิดฉากลงไปเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมาที่ นอกจากสมาคมกีฬาเทนนิส ลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทยจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณ หาที่สุดมิได้จากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลให้ผู้ชนะเลิศประเภทเยาวชนชายเดี่ยว และประเภทเยาวชนชายคู่ รุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี พร้อมพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. ประดิษฐานบนถ้วยรางวัลอันทรงเกียรติ

ยังเป็นผลให้ศึกเทนนิสในปีนี้มีนักหวดเยาวชนไทยหลายคนต่างวาดหวังที่จะงัดฟอร์มหวดออกมาสู้กันเต็มที่เพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง ชนะเลิศ และเป็นผลให้ได้ถ้วยพระราชทานมาครอง และหลายคนจะต้องลงแข่งแบบข้ามรุ่นของตัวเองขึ้นมาเพื่อหมายจะได้ครองถ้วยพระราชทานใบนี้

เช่นเดียวกันกับ “แพ็ตตี้” พิมพ์รดา จัตวาพรวนิช ที่แม้จะมีอายุเพียงแค่ 15 ปีแต่ก็หาญกล้ากระโดดข้ามขั้นขึ้นมาแข่งกับนักหวดรุ่นพี่อายุ 18 ปี ด้วยความมุ่งหมายอยากจะวัดความสามารถ และ ลองหาประสบการณ์ในการลงแข่งขันกับรุ่นใหญ่ และที่สำคัญ คือ ถ้วยพระราชทานอันทรงเกียรติ หาที่สุดมิได้ คือ รางวัลเกียรติยศที่ยิ่งใหญ่ที่ต้องการ

แพ็ตตี้ แม้จะต้องโหนอายุข้ามรุ่นไปดวลแร็กเกตกับรุ่นพี่ที่บางคนก็มีทั้งประสบการณ์ ฝีมือ ที่แกร่งกว่า บวกกับอายุ รูปร่าง ที่สูงใหญ่และแข็งแรงกว่า แต่เธอก็บอกว่า นี่คืออีกหนึ่งความท้าทาย ซึ่งไม่ได้ทำให้เธอต้องรู้สึกหวาดกลัวแต่อย่างใด

แพ้ คือ ประสบการณ์ แต่ถ้า ชนะ ก็ได้ถ้วยพระราชทานมาครอง…

ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจมาตั้งแต่แรกกับการลงชิงชัยในรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปีของศึกเทนนิสเยาวชนเพื่อความชนะเลิศแห่งประเทศไทย…ครั้งแรกในชีวิต ทำให้ แพ็ตตี้ ทุ่มเทให้กับการฝึกซ้อมอย่างหนัก โดยมี “โค้ชหนึ่ง” ก้องภพ เลิศชัย ผู้ฝึกสอนที่ดูแลกันมาร่วม 3 ปีมาช่วยติวเข้มและเคี่ยวอย่างหนัก ทั้งใส่อาวุธ เสริมความแกร่งของลูกหวดโฟร์แฮนด์ และ ปรับเรื่องลูกเสิร์ฟให้มีความแม่นยำและมีเปอร์เซ็นต์ลงคอร์ตมากขึ้นให้เต็มที่

ที่สุดแล้ว ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น…

แพ็ตตี้ สามารถหวดเอาชนะรุ่นพี่วัย 18 ปี ณัชชารีย์ ธีรโชติจิรานนท์ จากประจวบคีรีขันธ์ ในนัดชิงชนะเลิศได้อย่างเด็ดขาด 2 เซตรวดด้วยสกอร์ 6-0 และ 6-2 ได้ครองแชมป์หญิงเดี่ยว เทนนิสเพื่อความชนะเลิศแห่งประเทศไทย ในรุ่นอายุ 18 ปีด้วยวัย 15 ได้สำเร็จ

ที่สุดยิ่งกว่านั้น คือ การคว้าถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกียรติยศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชีวอตและความภาคภูมิใจที่สุดของครอบครัว

“ดีใจมากค่ะ เป็นครั้งแรกของหนูที่ได้ถ้วยพระราชทาน และเป็นความภาคภูมิใจมากที่สามารถคว้าชัยชนะมาได้ หนูตั้งใจมาตั้งแต่ก่อนสมัครว่าปีนี้จะขอลงแข่งรุ่น 18 ปี เพื่อสิ่งนี้นี่แหละค่ะ และหนูก็ทำได้ ดีใจจริงๆค่ะ”

แพ็ตตี้ กล่าวอีกว่า ที่ตัดสินใจขยับรุ่นมาแข่งรุ่นอายุ 18 ปีแม้ว่าจะรู้ว่าต้องเจอกับรุ่นพี่ที่ฝีมือดีและแข็งแกร่ง แต่ตัวเองก็พร้อมที่จะเสี่ยงลงแข่งขัน และไม่รู้สึกกลัวเลย ตรงข้ามกลับรู้สึกว่านี่คือความท้าทายที่จะต้องผ่านไปให้ได้

“ความสำเร็จที่ได้มาหนูคิดว่ามาจากการที่หนูเตรียมพร้อมมาอย่างดี หนูตั้งใจขยับมาแข่งรุ่นนี้ เพราะเมื่อปีที่แล้วหนูก็ได้แชมป์รุ่น 16 ปีมาแล้ว และปีนี้ก็อยากจะลองมาแข่งรุ่น 18 ปีบ้าง แรกๆก็ไม่มั่นใจว่าจะคว้าแชมป์มาได้ แต่ก็พยายามให้กำลังใจตัวเอง พยายามซ้อมให้หนัก เตรียมตัวให้ดีในทุกๆรอบที่ลงแข่ง ซึ่งแต่ละรอบก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะชนะ”

แน่นอนการคว้าแชมป์ประเทศไทยถือเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา เพราะนี่คือ บันไดก้าวที่สำคัญที่จะต่อยอดไปสู่ความสำเร็จในการแข่งขันเทนนิสระดับนานาชาติและระดับอาชีพ

แพ็ตตี้ ก็วางแผนไว้เช่นนั้นเหมือนกัน โดยเธอบอกว่า การคว้าแชมป์ประเทศไทยมาได้ก็ทำให้เธอมีความมั่นใจ และ มีสภาพจิตใจที่แข็งแกร่ง เชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น แต่นี่ก็ยังไม่พอที่จะส่งเธอไปสู่ความสำเร็จในการแข่งขันเทนนิสทั้งระดับเยาวชนนานาชาติ และ ระดับอาชีพ

“หนูยังต้องซ้อมอีกเยอะ ยังต้องปรับเกมการเล่น เพิ่มความแข็งแกร่งให้ร่างกาย จิตใจ และเทคนิคการเล่นที่จะต้องพัฒนาไปอีกมาก ซึ่งตอนนี้หนุเองก็พร้อมแล้วกับความท้าทายใหม่ กับการฝึกซ้อมที่หนัก และ การต้องเจอกับคู่แข่งที่แข็งแกร่งมากขึ้น หนูรู้ว่า นักเทนนิสที่จะประสบความสำเร็จสมหวังนั้นไม่ใช่จะได้สิ่งนั้นมาง่ายๆ มันต้องใช้ความพยายามอีกเยอะและต้องให้เวลาพอสมควร”

การได้ไปเป็นตัวแทนนักเทนนิสไทยลงสนามแข่งขันเทนนิส ดับเบิ้ลยูทีเอ ฟิวเจอร์ สตาร์ ที่ประเทศสิงคโปร์ ในช่วงการแข่งขันเทนนิส ดับเบิ้ลยูทีเอ ไฟนอล 2017 ที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา และสามารถสร้างผลงานได้อย่างโดดเด่นด้วยการคว้าตำแหน่ง รองแชมป์ ในการแข่งขันรายการนี้มาครอง ทำให้ แพ็ตตี้ เริ่มมองเห็น เป้าหมาย ในการเล่นเทนนิส และ รู้ว่า เส้นทาง อนาคตในการแข่งขันของตัวเองนั้นควรจะไปในทางไหน

“ที่ได้จากการแข่ง ดับเบิ้ลยูทีเอ ฟิวเจอร์ สตาร์ จริงๆแล้วไม่ใช่แค่การไปสร้างผลงาน การได้รองแชมป์ แต่หนูคิดว่าตัวเองได้มากกว่านั้น นั่นคือ การได้ไปสัมผัสชีวิตของนักเทนนิสอาชีพระดับท็อปของโลก ได้เรียนรู้ว่ากว่าเขาจะมาอยู่ในจุดนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง และ รู้ว่า ถ้าเราประสบความสำเร็จและก้าวมาอยู่ระดับนี้แล้วจะได้อะไรตอบแทนคืนมา”

“อย่างหนูแค่แข่งรายการเยาวชน แต่ก็รู้ว่า การเป็นนักเทนนิสอาชีพมือท็อปของโลกนั้นจะได้รับการต้อนรับที่ดีมาก พักโรงแรมหรู มีรถหรูมารับจากที่พักไปสนามแข่งขัน ได้ลงแข่งในเซ็นเตอร์คอร์ตที่มีคนเข้ามาดูเป็นหมื่นๆคน และหนูก็อยากจะมีโอกาสนั้นบ้าง”

จากการได้ไปสัมผัสชีวิตนักเทนนิสมือท็อปของโลกที่สิงคโปร์ปลายปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาจนถึงการได้ร่วมทริปไปกับ สิงห์ แกรนด์สแลม เอ็กซ์พีเรียนซ์ ที่พานักเทนนิสเยาวชนไปร่วมฝึกซ้อมเรียนรู้เทคนิคกับโปรเทนนิสที่ออสเตรเลีย พร้อมกับร่วมชมเกมการแข่งขันเทนนิส แกรนด์สแลม ออสเตรเลี่ยน โอเพ่น ยิ่งตอกย้ำให้ แพ็ตตี้ เลือกเส้นทางการเป็นนักเทนนิสอาชีพให้ตัวเองได้ชัดเจนมากขึ้น

“การได้ไปดูเทนนิสที่ออสเตรเลีย หนูประทับใจมาก หนูได้ไปดูเกมการแข่งขันของ ราฟาเอล นาดาล, วีนัส วิลเลี่ยมส์, เบลินดา เบซิซ ในเซ็นเตอร์คอร์ตใหญ่ หนูได้นั่งใกล้ๆกับที่นั่งวีไอพีของนักกีฬา อยู่ใกล้กับครอบครัว วีนัส วิลเลี่ยมส์ นั่งใกล้ติดขอบสนามมาก ซึ่งทำให้หนูได้เห็นบรรยากาศการแข่งขันในสนามแห่งนี้ และ หนูก็คิดมาเองว่า ถ้าหนูได้ลงไปแข่งในสนามแบบนี้บ้างคงจะดี และหนูจะพยายามพาตัวเองมาแข่งในรายการแกรนด์สแลมแบบนี้บ้าง อยากให้พ่อกับแม่และครอบครัวได้มานั่งในที่นักของนักกีฬาอย่างนี้”

“หนูรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะไปยังจุดนั้น แต่หนูก็อยากจะลองดู ปีที่แล้วในรายการเยาวชนผลงานหนูอาจจะไม่ดีนัก แต่ปีนี้หนูก็ออกสตาร์ทมาดีในการแข่งขันที่อินเดียเมื่อต้นปี 2 รายการหนูคว้าแชมป์และรองแชมป์มาได้ ทั้งที่บอกเลยว่า การไปแข่งที่อินเดียต้องเจออุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะเรื่องความเป็นอยู่ อาหารการกิน และ สภาพแวดล้อม แต่หนูก็ต้องอดทนและพยายามโฟกัสแค่การแข่งขัน หนูต้องผ่านไปให้ได้ เพราะอนาคตนับจากนี้หนูก็ยังจะต้องเจออะไรอีกมากที่เราก็ยังจะเลือกให้ตัวเองสบายไปทุกอย่างไม่ได้”

แพ็ตตี้ บอกว่า อนาคตตัวเองก็ไม่รู้ว่าจะก้าวเดินไปถึงจุดไหนในเส้นทางการแข่งขันเทนนิส อุปสรรคระหว่างทางจะมีอะไรบ้าง

“แต่สิ่งที่หนูรู้ดีในตอนนี้ก็คือ หากตัวเองต้องการอะไรก็ต้องใช้ความพยายามทำสิ่งนั้นให้เต็มที่และดีที่สุด หนูก็จะได้ผลตอบแทนคือความสำเร็จและสมหวังกับสิ่งที่ได้ทำลงไปกลับคืนมา”

เหมือนเช่นความสำเร็จที่เกิดขึ้นในศึกเทนนิสเยาวชนเพื่อความชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี 2561 และหลายๆสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา

:: ฟ้าใส ::

ประวัติ
ชื่อ : “แพ็ตตี้” พิมพ์รดา จัตวาพรวนิช
เกิดวันที่ : 17 ตุลาคม 2546
ภูมิลำเนา : กรุงเทพมหานคร
ชื่อบิดา : นายธเนศ จัตวาพรวนิช
ชื่อมารดา : นางจันทิรา จัตวาพรวนิช
พี่น้อง : 3 คน เป็นคนที่ 3
เริ่มเล่นเทนนิส : อายุ 7 ขวบ
สาเหตุที่เล่นเทนนิส : เล่นตามพี่สาวและพี่ชาย
การศึกษา : ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ร.ร.เตรียมอุดม
อันดับโลก : มือ 710 เยาวชนโลก
ผลงานที่ผ่านมา :
• แชมป์เทนนิสเยาวชนเพื่อความชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี 2560 รุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี
• รองแชมป์เทนนิสเยาวชนนานาชาติ ดับเบิ้ลยู ฟิวเจอร์ สตาร์ 2560 ที่สิงคโปร์
• แชมป์หญิงเดี่ยว เทนนิสเยาวชนนานาชาติ ไอทีเอฟ จูเนียร์ 2018 เกรด 5 ที่อินเดีย(วีค1)
• รองแชมป์หญิงเดี่ยว เทนนิสเยาวชนนานาชาติ ไอทีเอฟ จูเนียร์ 2018 เกรด 5 ที่อินเดีย(วีค2)
นักเทนนิสขวัญใจ : วิคตอเรีย อซาเรนก้า, เซเรน่า วิลเลี่ยมส์, แองเจลิค เคอร์เบอร์, เอลิน่า สวีโตลิน่า
เป้าหมายปีนี้ : ติดท็อป 200 เยาวชนโลก
เป้าหมายอนาคต : เป็นนักเทนนิสอาชีพระดับท็อปของโลก

.
ขอบคุณ : นสพ.สยามกีฬา
ที่มา http://www.siamsport.co.th/column/detail/69541

LTAT