สุดยอดคุณแม่จอมจิตวิทยา เปลี่ยนความกลัวเป็นความกล้า
เบื้องหลังความสำเร็จของ “แพทริค แค็นดอลล์ ไฮเอิลบรอน”
จากเด็กขี้อายสู่นักหวดชายดาวรุ่ง
ขึ้นชื่อว่าการเล่นกีฬาแล้ว เรื่องของจิตวิทยาถือว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย หรือทักษะการเคลื่อนไหว ซึ่งนอกจากผู้ฝึกสอนแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองถือว่ามีบทบาทอย่างยิ่งที่จะคอยเติมเต็มทัศนคติด้านบวกให้บุตรหลาน คอยให้กำลังใจและฝึกให้เขาทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค มีความอดทนและรู้จักยอมรับกับความพ่ายแพ้ เพราะการที่เด็กหนึ่งคนจะเติบโตไปเป็นนักกีฬาที่ดี จะต้องควบคู่ไปกับการมีทัศนคติ หรือความคิดที่ดีด้วย อย่างเช่น คุณแม่รัชตา ไฮเอิลบรอน ที่ใช้จิตวิทยาเข้ามาช่วยในการเล่นเทนนิสของลูกชาย จนทำให้ปัจจุบัน แพทริค แค็นดอลล์ ไฮเอิลบรอน หนุ่มน้อยจอมหวด วัย 9 ขวบจากจังหวัดนครราชสีมา สามารถเปลี่ยนตัวเองจากเด็กขี้อาย ร้องไห้ทุกครั้งที่ลงสนาม ก้าวขึ้นมาคว้าแชมป์หลายต่อหลายรายการ โดยล่าสุดก็เพิ่งคว้าแชมป์ 2 รายการติดต่อกัน ทั้งแชมป์ชายเดี่ยวรุ่นอายุไม่เกิน 10 ปี เทนนิสเยาวชน “ท็อป วัน-แอลทีโอ จูเนียร์ แชมเปี้ยนชิพ 2018” ครั้งที่ 1 รวมทั้งแชมป์ชายเดี่ยว รายการเยาวชนพัฒนาฝีมือสานฝันสู่อาชีพ ครั้งที่ 2
.
“จริงๆ แล้ว คุณแม่ให้น้องแพทริคมาเล่นเทนนิสก็เพราะว่าตอนเด็กๆ เขาไม่นิ่ง ไม่มีสมาธิเลย คือบ้าพลังมาก เล่นอย่างเดียว นอนก็ดึก ก็เลยมาคิดว่าจะแก้ปัญหายังไง พอดีว่าตอนนั้นแพทริคประมาณ 4 ขวบ ที่โคราชมีเปิดสอนเทนนิสฟรี คุณแม่ก็เลยพาน้องไป แล้วแพทริคก็ไปยืนเกาะรั้วดูที่เขาเล่นกัน โค้ชก็เอาตระกร้าลูกเทนนิสมาให้น้องลองเสิร์ฟ ปรากฎว่าน้องเสิร์ฟข้ามตั้งแต่ครั้งแรกเลย เจ้าตัวก็ดีใจและตื่นเต้นมาก คุณแม่ก็เลยให้น้องลองฝึก ลองเรียนดู จะชอบหรือไม่ชอบค่อยว่ากันอีกที แต่สุดท้ายน้องก็ชอบมาก คอยบังคับให้คุณแม่พาไปสนามตลอด เราก็คิดละว่า เทนนิสนี่แหละ ที่จะช่วยให้น้องมีสมาธิและมีระเบียบวินัยมากขึ้น น้องแพทริคก็เลยได้เริ่มฝึกเทนนิสมาตั้งแต่ตอน 4 ขวบค่ะ”
.
จากจุดเริ่มต้นบนเส้นทางลูกสักหลาดของหนุ่มน้อยจอมซน พลังเยอะในวัย 4 ขวบ แม้จะได้ฝึกซ้อมไม่สม่ำเสมอ และหยุดไปบ้างในบางช่วง เนื่องจากติดปัญหาเรื่องไม่มีโค้ชประจำ แต่ให้หลังอีก 2 ปี แพทริคน้อยในวัย 6 ขวบก็ได้มีโอกาสลงประเดิมสนามแข่งขันเป็นครั้งแรก และเหตุการณ์ในวันนั้นเอง ที่คุณแม่รัชตาได้เห็นถึงจุดอ่อนบางอย่างในตัวลูกชายและเริ่มมีความคิดอยากใช้จิตวิทยามาช่วยลูกชาย
.
“ถ้ามองแบบผิวเผิน เราก็จะเห็นแค่ว่าน้องแพทริคซน พลังเยอะ เล่นทั้งวัน แต่ลึกๆ แล้ว คุณแม่สังเกตุเห็นว่าน้องแพทริคเป็นเด็กขี้อาย ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง และที่ทำให้คุณแม่มั่นใจมากขึ้นก็คือวันที่น้องลงแข่งเทนนิสครั้งแรก เพราะแพทริคไม่ขยับตัว ไม่ขยับขาเลย ยืนนิ่งน้ำตาคลอตลอดทั้งเกม พอแข่งจบก็แพ้ตามคาด คราวนี้ร้องไห้หนักมาก บอกคุณแม่ว่าต่อไปนี้จะไม่แข่งอีกแล้ว คือสงสารลูกมาก หลังจากนั้นก็ไม่ได้ส่งน้องแข่งอีกเลย จนผ่านไปหลายเดือน ช่วงน้อง 7 ขวบ ที่โคราชจัดแข่งเทนนิสพัฒนาฝีมือ โค้ชที่คอร์ตก็มาขอคุณแม่ให้น้องลองลงแข่งอีกสักครั้ง คุณแม่คิดแล้วว่าไม่อยากให้ลูกยอมแพ้อะไรง่ายๆ เพราะรายการแรกที่แข่ง เขายังไม่ได้สู้เต็มที่ ยังไม่ได้พยายามเลย ก็เลยตอบตกลงกับโค้ชค่ะ”
.
การตัดสินใจของคุณแม่รัชตาในการให้น้องแพรทริคลงแข่งขันเทนนิสเป็นรายการที่สองสร้างความกังวลให้หนุ่มน้อยแพทริคเป็นอย่างมาก เพราะยังฝังใจกับการแข่งขันรายการแรกไม่หาย ทำให้คราวนี้เด็กน้อยต่อต้านด้วยการร้องไห้ตั้งแต่วันไปรายงานตัว และยืนยันจะไม่ลงแข่งขันเด็ดขาด ทำให้คุณแม่รัชตาต้องใช้คำพูดโน้มน้าวใจลูกชายอยู่นานสองนาน จนน้องแพทริคใจอ่อนและยอมลงแข่งขันแบบไม่ค่อยเต็มใจ และการแข่งขันรายการนี้เองที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้น้องแพทริคอยากลงแข่งขันรายการต่อๆ ไป หลังจากแพ้ตกรอบ แต่ก็ยังได้เหรียญทองแดงปลอบใจเพราะมีนักกีฬาอยู่แค่ 4 คน
.
“น้องลงแข่งรายการที่สองแบบเสียไม่ได้ค่ะ เพราะแม่ขอร้องแกมบังคับ แล้วน้องก็มีอาการเหมือนเดิม ไม่กล้าขยับ ไม่กล้าตี น้ำตาคลอ ก็เป็นไปตามคาดค่ะว่าแพ้ แต่จุดที่ทำให้เขายิ้มได้ก็คือถึงแพ้แต่ก็ยังได้ขึ้นรับเหรียญทองแดง เป็นเหรียญแรกในชีวิต ซึ่งเขาดีใจมาก บอกคุณแม่ว่าอยากแข่งอีก อยากชนะบ้าง แม่ก็จัดให้สิคะ พาตระเวนแข่งต่อเนื่อง ช่วง 7 ขวบส่วนใหญ่ก็ได้ที่ 3 ค่ะ หรือบางรายการก็กลับบ้านมือเปล่า มีเด็กแข่งอยู่ 5 คน ลูกเรากลับบ้านมือเปล่าคนเดียว ซึ่งเราก็ไม่ได้ซีเรียสตรงนั้น สิ่งที่เราสัมผัสได้จากการพาลูกตระเวนแข่งก็คือ ลูกมีความกังวลเวลาแต้มตาม ไม่พยายามและถอดใจ คุณแม่ก็คอยให้กำลังใจ ปรับวิธีคิด ปรับทัศนคติและสอนน้องตลอดว่าถ้าอยากได้ที่ 1 จิตใจต้องแข็งแกร่ง
.
กระทั่งวันหนึ่งลูกมาบอกว่า ผมอยากได้ถ้วยรางวัลบ้าง ได้เหรียญมาเยอะแล้ว ซึ่งนี่ก็เป็นการบ้านของเราอีกหนึ่งข้อค่ะ ที่จะหาวิธีว่าทำอย่างไร ลูกถึงจะมีโอกาสได้ถ้วยรางวัลบ้าง ก็เริ่มวางโปรแกรมใหม่เลยค่ะ ให้น้องฝึกซ้อมหนักขึ้น เพิ่มจาก 3 เป็น 5 วัน จากนั้นก็ไปปรึกษาโค้ช เพื่อหารายการแข่งขันที่มีถ้วยรางวัล แล้วก็มีรายการจำเริญคัพ ลอนเทนนิสพัฒนาดาวรุ่ง ประจำปี 2559 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต รายการนี้มีถ้วยรางวัล ซึ่งก่อนแข่ง เราก็ตั้งเป้าอันดับ 3 แต่สุดท้ายความพยายามของเราแม่ลูก ก็ประสบความสำเร็จ เพราะน้องสามารถคว้าแชมป์ได้เป็นครั้งแรก พร้อมรับถ้วยกลับบ้านสมใจค่ะ”
.
หลังคว้าแชมป์และได้ถ้วยรางวัลแรกได้สำเร็จ นี่เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญในเรื่องความคิดของนักหวดน้อยจากเมืองย่าโม ที่กลับมาขยันซ้อม และตั้งใจมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า แน่นอนว่าคุณแม่จอมจิตวิทยาก็ไม่หยุดนิ่งที่ช่วยสนับสนุนลูกชาย โดยครั้งนี้คุณแม่ช่วยลูกค้นหาแรงบันดาลใจอีกทาง จากไอดอลของลูก นั่นก็คือ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ยอดนักเทนนิสชาวสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นนักหวดชายคนแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้าแชมป์ประเภทเดี่ยวระดับแกรนด์สแลมได้มากถึง 20 รายการ
.
“น้องแพทริค มี โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ เป็นไอดอล เราก็ใช้ตรงนี้มาสร้างแรงบันดาลใจให้ลูก จะสอนเขาว่าถ้าอยากทำได้แบบ เฟเดอเรอร์ ก็จะต้องอดทน ไม่อ่อนแอ และสู้เต็มที่ เพราะแชมป์แต่ละรายการมันมีได้แค่คนเดียว อีกอย่างก็คือเวลาที่เราเป็นรอง จะต้องตั้งสติ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกคุมสติไม่ได้ สมาธิก็จะหลุดแล้วก็ต้องแพ้ไปในที่สุด หรือถ้ากดดันมากจริงๆ จนอยากร้องไห้ก็ร้องเลยแต่ให้ร้องใต้แว่นนะลูก คู่แข่งจะได้ไม่เห็นว่าเรากำลังอ่อนแอ เราสอนทุกอย่าง ใช้จิตวิทยาเท่าที่จะทำได้ ซึ่งนอกจากแว่นตาที่จะให้น้องใส่ลงแข่งแล้ว คุณแม่ก็ไปหาชุด หาหมวกและผ้าคาดผมแบบ เฟเดอเรอร์ มาให้เขาแบบจัดเต็ม เป็นการสร้างความมั่นใจ คือลงทุนสั่งมาจากอเมริกาเลย ซึ่งเขาชอบมากและปฏิญาณกับแม่ว่า จะเป็นเหมือนเฟดเอ็กซ์ให้ได้ เราได้ยินแบบนั้นก็สบายใจ
.
จากนั้นเขาก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ มันทำให้รู้ว่าสิ่งที่เราพยายามลงทุนลงแรงทั้งกายทั้งใจเริ่มเห็นผล จนวันหนึ่งตอนน้องแพทริค 8 ขวบ เขาก็ก้าวข้ามความกลัวด้วยการขยับขึ้นไปเล่นรุ่นไม่เกิน 10 ปี และสามารถเอาชนะรุ่นพี่ที่เขายังไม่เคยเอาชนะได้เป็นครั้งแรก คือมันนอกจากจะทำให้คุณแม่มีความสุขที่สุดแล้ว แน่นอนว่าลูกเราก็มีความมุ่งมั่น ประหนึ่งว่าไม่มีอะไรที่น่ากลัวสำหรับเขาอีกแล้วบนเส้นทางสายนี้”
.
ความทุ่มเทของคู่แม่ลูกครอบครัวไฮเอิลบรอน ต้องแลกกับหลายอย่าง โดยคุณแม่ที่ทำธุรกิจสร้างอาคารพาณิชย์ขายก็ต้องแบ่งเวลาในการทำงานและเวลาในการดูแลลูกให้ลงตัวที่สุด ขณะเดียวกันลูกชายก็ต้องแบ่งเวลาทั้งเรื่องการเรียนและการเล่นกีฬาไม่ให้กระทบกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประทับใจ เมื่อปีที่แล้วคุณพ่อเคิร์ท วิลเลียม ไฮเอิลบรอน ได้เข้ามาช่วยอีกแรง ทำให้ทุกอย่างลงตัวยิ่งขึ้น แถมลูกสาวคนเล็ก น้องอแมนด้า ลินนี่ ก็ยังเข้าใจและคอยตามไปเชียร์พี่ชายอยู่เสมอ ทำให้คุณแม่รัชตาสามารถบริหารจัดการครอบครัวได้อย่างคล่องตัว ซึ่งคุณแม่บอกว่า เรื่องภาพรวมของครอบครัวก็ใช้จิตวิทยามาช่วยด้วยเช่นกัน
.
“เรื่องงาน คุณแม่จะอาศัยทำตอนน้องไปโรงเรียน พอหลังลูกเรียนเสร็จเวลาจะเป็นของลูกค่ะ ทำอาหารใส่กล่องไปรอรับจากโรงเรียนก็กินข้าวในรถเลย จากนั้นก็พาไปซ้อม ส่วนเรื่องการบ้านน้องจะทำมาจากโรงเรียนช่วงรอแม่ไปรับ ซึ่งน้องเข้าใจตรงนี้ไม่มีอิดออดเพราะเวลาทุกนาทีมีค่า ซ้อมเสร็จกลับบ้านก็พักผ่อนเต็มที่ ซึ่งแพทริคเรียนดีนะคะ สมองไว ถือว่ากีฬาไม่ได้ทำให้การเรียนตก ตอนนี้เรียนอยู่ที่โรงเรียนสารสาทวิเทศนครราชสีมา ผลการเรียนน่าพอใจมาก
ถ้าเราถามเขาว่าถ้าไม่เป็นนักเทนนิสอยากเป็นอะไร เขาก็ตอบว่าอยากเป็นนักบินอยากขับ F16 ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องของอนาคต คุณแม่ไม่ขัด
.
ส่วนน้องสาวคนเล็ก แรกๆ ก็มีงอนคุณแม่บ้างนะคะที่ตามดูแลแต่พี่ชาย คุณแม่ก็คิดละว่าถึงเวลาใช้จิตวิทยาอีกแล้วสินะ เราก็เลยตั้งให้น้องอแมนด้าเป็นผู้จัดการส่วนตัวขอน้องแพทริคซะเลย คือให้ความสำคัญกับเขา เขาก็จะแฮปปี้ เวลาที่พี่ชายชนะ เขาก็จะเป็นคนจัดการเรื่องของขวัญหรือร้านที่จะไปฉลองกัน แต่ถ้าวันไหนที่เขาไม่อยากไปดูพี่แข่ง อยากไปทำกิจกรรมอื่นๆ แทน คุณแม่ก็ไม่ว่า ทุกอย่างก็ลงตัว คนสุดท้ายคุณพ่อ คนนี้ไม่ได้ใช้จิตวิทยาอะไรคะ เพราะคุณพ่อเต็มใจอยู่แล้ว เข้ามาช่วยดูแพทริคเมื่อปีที่แล้ว ถือว่าช่วยได้เยอะและเป็นประโยชน์มาก เพราะเขาศึกษาลงลึกไปในรายละเอียดตั้งแต่หลักวิทยาศาสตร์ โมเมนตัม สโตรกการตี ไปจนถึงลักษณะของแร็กเกต และการขึงแร็กเกต ซึ่งตรงนี้ก็เข้ามาช่วยเติมเต็มให้สถิติของแพทริคดีขึ้นจริง และสามารถตีข้ามรุ่นด้วยผลงานที่น่าพอใจ”
.
ขณะที่น้องแพทริคยืนยันว่าถ้าให้เลือกระหว่างนักเทนนิสกับนักบิน ตอนนี้อยากเป็นนักเทนนิสมากกว่าเพราะอยากเดินตามรอยของ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ไอดอลในดวงใจ และตั้งแต่ที่เล่นเทนนิสมาร่วมๆ 5 ปี ประทับใจทุกรายการ เพราะแต่ละรายการต่างให้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป เป็นการฝึกความแข็งแกร่งในตัวเองเหมือนที่คุณแม่คอยสอนมาตลอด
.
ส่วนที่เพิ่งคว้าแชมป์ชายเดี่ยว รุ่นอายุไม่เกิน 10 ปี เทนนิสเยาวชน “ท็อป วัน-แอลทีโอ จูเนียร์ แชมเปี้ยนชิพ 2018” ครั้งที่ 1 และรายการเยาวชนพัฒนาฝีมือสานฝันสู่อาชีพ 2561 ครั้งที่ 2 ถือเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองในการลงไล่ล่าแชมป์ในปีนี้ต่อไป โดยหลังจากผ่านไปเพียง 5 เดือน น้องแพททริคสามารถคว้าแชมป์ไปแล้วถึง 5 รายการ เริ่มจากแชมป์ชายเดี่ยว รุ่นอายุไม่เกิน 10 ปี รายการเยาวชนพัฒนาฝีมือ สานฝันสู่อาชีพ 2561 ครั้งที่ 1, แชมป์ชายเดี่ยว รุ่นอายุไม่เกิน 10 ปา เทนนิสรายการ พีทีที-ลอนเทนนิส พัฒนาฝีมือ ประจำปี 2561 ครั้งที่ 1, แชมป์ชายเดี่ยว รุ่นอายุไม่เกิน 10 ปี เทนนิสเยาวชน “ท็อป วัน-แอลทีโอ จูเนียร์ แชมเปี้ยนชิพ 2018” ครั้งที่ 1 และแชมป์ชายเดี่ยว รายการเยาวชนพัฒนาฝีมือ สานฝันสู่อาชีพ 2561 ครั้งที่ 2 รวมทั้งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยังสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ ชายเดี่ยว 10 ปี และรองชนะเลิศอันดับ 2 ชายเดี่ยว 12 ปี รายการ Pro 80 ดาวรุ่งมุ่งโอลิมปิก 2018 ภาคอีสาน อีกด้วย ซึ่งล่าสุดมีคะแนนสะสมเป็นอันดับ 4 ของรุ่นอายุไม่เกิน 10 ปีชาย จากสมาคมกีฬาเทนนิส ลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ในปีนี้อีกด้วย ทั้งที่มีอายุเพียง 9 ปี
.
ขณะที่ปี 2560 หนุ่มน้อยแพทริคก็สามารถกวาดแชมป์ไปถึง 12 รายการ โดยเฉพาะแชมป์ชายเดี่ยวรุ่น อายุไม่เกิน 8 ปี และแชมป์ชายคู่ รุ่นอายุไม่เกิน 8 ปี รายการ เยาวชนเพื่อความชนะเลิศแห่งประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน ครั้งที่ 55 รวมทั้งแชมป์ชายเดี่ยว รุ่นอายุไม่เกิน 8 ปี รายการ พีทีที-ลอนเทนนิส พัฒนาฝีมือ ประจำปี 2560 รอบมาสเตอร์ ที่เจ้าตัวภูมิใจเป็นอย่างมากและยังมีคะแนนสะสมเป็นอันดับ 1 ในรุ่นอายุไม่เกิน 8 ปีชาย ของสมาคมกีฬาเทนนิสฯ อีกด้วย
.
นี่จึงเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งว่า จิตวิทยาที่คุณแม่นำมาใช้ประกอบกับความตั้งใจของลูก และแรงสนับสนุนจากครอบครัวสามารถช่วยผลักดันให้เด็กพัฒนาได้แบบก้าวกระโดดและประสบความสำเร็จได้อย่างน่าพอใจ.