“อี๊ด” ยศพล พรมมนต์ หนึ่งเดียวคนไทยใน ออสเตรเลียน โอเพ่น 2021

Written by LTAT Admin

“อี๊ด” ยศพล พรมมนต์ หนึ่งเดียวคนไทยใน ออสเตรเลียน โอเพ่น 2021

“อี๊ด” ยศพล พรมมนต์ หนึ่งเดียวคนไทยใน ออสเตรเลียน โอเพ่น 2021

แม้ในแกรนด์สแลมแรกของปี ศึก “ออสเตรเลียน โอเพ่น 2021” ที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งกำลังจะเปิดฉากขึ้นในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้านั้น ไม่มีรายชื่อของนักหวดไทยเข้าร่วมการแข่งขัน แต่ในออสเตรเลียน โอเพ่น ครั้งนี้ ก็ยังมีเรื่องนอกสนามที่น่าสนใจเกี่ยวกับคนไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม และเป็นส่วนหนึ่งของทัวนาเมนต์กีฬาระดับโลกที่จะจัดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19

“อี๊ด” ยศพล พรมมนต์ นักกายภาพ (Physio) มือฉมัง วัย 35 ปี คือคนไทยเพียงคนเดียวที่อยู่ในสารระบบของศึกออสเตรเลียน โอเพ่น 2021 พี่อี๊ดของน้องๆ นักเทนนิสไทย รับหน้าที่เป็น นักกายภาพประจำตัวให้กับ เดนิส ชาโปวาลอฟ นักหวดหนุ่มแคนาดา วัย 21 ปี มืออันดับ 12 ของโลก ซึ่งมาถึงตรงนี้ผู้อ่านหลายคนอาจสงสัย จนเกิดคำถามว่า นักกายภาพคนไทยเข้าไปร่วมงานกับนักกีฬาระดับโลกได้อย่างไร นับตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไปผู้อ่านจะได้ทราบถึงความเป็นมาเป็นไป และปัจจัยที่ทำให้ นักกายภาพคนไทย กลายเป็นที่ยอมรับจากนักหวดมือท็อปของโลก

ก่อนอื่นขออนุญาตอธิบายความหมายของคำว่า นักกายภาพ (Physio)คือ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการเคลื่อนไหวของร่างกาย ด้วยการตรวจประเมินและวินิจฉัยทางกายภาพบำบัด ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ นั่นคือ การรักษาฟื้นฟู โดยไม่ใช้ยา และมองถึงตำแหน่งของโรค (พยาธิสภาพ) ควบคู่กับหลักการเคลื่อนไหวพื้นฐานของมนุษย์ ขณะที่นักกายภาพกีฬามีหน้าที่ดูแลและให้ความพร้อมแก่นักกีฬา ตั้งแต่ก่อน ขณะ และหลังแข่งขัน ด้วยการออกแบบโปรแกรมทำร่างกายที่เหมาะสมกับตัวนักกีฬา เพื่อให้ร่างกายอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมแข่งขันมากที่สุด

กลับมาที่เส้นทางนักกายภาพของ ยศพล เริ่มต้นหลังศึกษาจบจาก คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตกรุงเทพ จากนั้นในปี 2008 ได้ประเดิมงานแรกด้วยการดูแล “ปิ๊ก” ดนัย อุดมโชค อดีตนักหวดมือ 77 ของโลก รวมถึงนักกีฬาไทยอีกหลายคน อาทิ วีรภัทร ดอกไม้คลี่, กิตติพงษ์ วชิรมโนวงศ์, สนฉัตร-สรรค์ชัย รติวัฒน์, ณัฐนิดา หลวงแนม และ หนึ่งนัดดา วรรณสุข และการเดินทางร่วมทัวร์กับ ดนัย คือหนึ่งในตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้ ยศพล เกิดแรงบันดาลใจ และต้องการผลักดันตัวเอง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากนักกีฬาต่างชาติ

“การได้ออกเดินทางร่วมทัวร์กับพี่ปิ๊ก เป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมมาก เปรียบเสมือนการเปิดโลกของผม ทำให้ผมได้พบเจอคนเก่งๆ มากมาย ได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ผมจำได้ว่า ช่วงไปแรกๆ เคยถามพี่ปิ๊กว่า ทำไมฝรั่งพวกนี้เขาถึงเก่งกันจัง พี่คอยดูนะสักวันนึง ผมจะทำให้พวกหัวทอง หัวแดง (นักกีฬาต่างชาติ) มาจ้างผมให้ได้” ยศพล เล่าย้อนให้ฟังถึงวันวานที่เดินทางร่วมกับดนัย คำพูดที่ออกจากปากของ ยศพล ในวันนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ลมปาก กลับกัน เปรียบดั่งคำปณิธานอันทรงพลัง ที่ขับเคลื่อนให้ตัวเขาไปถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งทุกครั้งที่ได้ออกทัวร์ร่วมกับ ดนัย เขาจะใช้โอกาสนี้ในการแสดงฝีมือ แม้จะทราบดีว่าความเสี่ยงในงานนี้คือ ไม่สามารถเลือกงาน หรือเดินเข้าไปสมัครโดยตรงได้ แต่นักกีฬาจะเป็นคนเลือก นักกายภาพ ที่จะเข้ามาทำงานร่วมกัน ซึ่งสิ่งเดียวที่ทำได้ คือการหาวิธีทางทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดกับตัวนักกีฬาภายใต้การดูแลของเรา จนกระทั่งปี 2013 ฝีไม้ลายมือของ ยศพล ไปเข้าตาทีมงานของ มาร์เซล อิลฮาน นักเทนนิสตุรกี และได้ตกลงเซ็นสัญญาร่วมงานกันเป็นเวลา 2 ปีครึ่ง ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาคือ อิลฮาน ก้าวกระโดดจากอันดับ 214 ขึ้นมารั้งอยู่อันดับ 77 ของโลก ได้ในปี 2015 หลังจากนั้นชื่อของ ยศพล ก็ติดลมบน ในฐานะนักกายภาพที่นักกีฬาหลายคนต้องการดึงตัวไปร่วมงานด้วย ซึ่งจุดเด่นที่ทำให้ ยศพล เป็นที่ยอมรับจากนักกีฬา เป็นเรื่องของการฟื้นฟูร่างกาย, พละกำลัง, ความเร็ว, ความแข็งแรง รวมถึงระบบแอโรบิค และความทนทาน ภายหลังหมดสัญญากับ อิลฮาน เขาก็มีโอกาสได้เข้าไปดูแลร่างกายให้กับนักหวดอีกหลายคน อาทิ ริคาร์ดาส เบรันคิส (ลิทัวเนีย), มิคาอิล ยูซนี่ (รัสเซีย), เยเลน่า ยานโควิช (เซอร์เบีย), เยฟเกนี่ ดอนสกอย (รัสเซีย), ราดู อัลบอต (มอลโดวา) และ ลาสโล เจเร (เซอร์เบีย) “ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนที่เหนือกว่าใคร ผมอาศัยความขยัน ใฝ่รู้ เวลาออกทัวร์กับนักกีฬา ก็จะคอยตามไปดูเทรนเนอร์เก่งๆ เข้าไปขอความรู้ คำแนะนำจากพวกเขา โดยที่ผมไม่รู้สึกอายเลย เพราะผมเชื่อในประโยคหนึ่งที่ว่า ถ้าอยากเก่ง ต้องเดินเข้าหาคนเก่งกว่าเรา และที่สำคัญเราต้องรู้จักนักกีฬาของเราให้ดีก่อนถึงไปจะแนะนำเขาได้ โดยวิธีการของผมคือ ไม่เอาความรู้ของเราไปยัดเยียดให้เขา แต่ควรนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม โดยการนำเอาจุดเด่นของนักกีฬาออกมาใช้ ซึ่งนักกีฬาอาชีพส่วนใหญ่จะรู้ว่าจุดอ่อนตัวเองอยู่ตรงไหน และนั่นคือหน้าที่ของเราที่จะต้องพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับนักกีฬาของเรา” ยศพลเผยถึงเคล็ดลับในการทำงาน ต่อมาเดือนสิงหาคม ปี 2019 ยศพล ได้รับการทาบทามให้เข้ามาเป็น 1 ในทีมงานของ เดนิส ชาโปวาลอฟ นักหวดหนุ่มดาวรุ่งแคนาดา วัย 21 ปี มืออันดับ 12 ของโลก ซึ่งมี มิคาอิล ยูซนี่ อดีตนักหวดรัสเซีย ที่เคยร่วมงานกันมาเป็นโค้ช แน่นอนว่าการเข้ามาทำงานร่วมกับนักกีฬาระดับโลก ถือเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม และยากจะปฏิเสธ ขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับความท้าทาย และเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ โดยภารกิจแรกของ ยศพล คือการทำให้สภาพร่างกายของเดนิส ชาโปวาลอฟ สมบูรณ์ พร้อมมากที่สุดในการลงแข่งขันศึก ออสเตรเลียน โอเพ่น 2021 “ยูซนี่ โค้ชของ เดนิส ชาโปวาลอฟ เคยทำงานร่วมกับผมสมัยตอนเป็นนักกีฬา เขามองว่าผมจะเข้ามาช่วยพัฒนานักกีฬาของเขาได้ จึงติด

ต่อมาหาผม ตั้งแต่ เดือนสิงหาคม 2019 ว่าต้องการให้ผมเข้าไปดูแลร่างกายให้กับ เดนิส หลังจากผมได้คิดทบทวนดีแล้ว จึงตัดสินใจรับงานนี้ โดยได้เริ่มต้นเดินทางร่วมปรีซีซั่นกันตั้งแต่ที่ดูไบ 14 วัน ก่อนจะบินเข้ามาที่ออสเตรเลีย และเข้าสู่ระบบการกักตัว 14 วัน ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาด เชื้อไวรัสโควิด-19 ของทัวนาเมนต์” ยศพล เล่าย้อนให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นการได้มาร่วมงานกับ เดนิส ชาโปวาลอฟ การออกทัวร์ใหญ่ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 นับเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับนักกีฬา รวมไปถึงทีมงานผู้ติดตาม โดยในศึก ออสเตรเลียน โอเพ่น 2021 ครั้งนี้ รัฐบาลออสเตรเลียมีมาตรการเข้มงวดให้นักกีฬาและทีมงานรวมแล้ว ราว 1,200 คน ที่จะเดินทางเข้าร่วมแข่งขัน ต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน เช่นเดียวกับ ยศพล ก็เป็น1 ในผู้ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัวในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

“มาตรการการป้องกันของที่นี่เข้มงวด และรัดกุมมาก จะทำอะไรต้องรอคำสั่งจากรัฐบาลรัฐวิคตอเรีย ในช่วงเวลา 4 ทุ่มของทุกวัน จากนั้นถึงจะได้วางแผน เพื่อเตรียมโปรแกรมการฝึกซ้อมในวันรุ่งขึ้น ขณะที่การทำงานร่วมกับนักกีฬาระดับโลก ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทำให้ผมได้เรียนรู้ถึงความเป็นมืออาชีพของนักกีฬาระดับโลกเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งผมต้องมีความละเอียดมากกว่าตัวนักกีฬา จึงจะสามารถไปแนะนำเขาได้ โดยที่ผมก็ต้องอัพเดทโปรแกรมฝึก รวมถึงปรับตัวและปรับรูปแบบการทำงานให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย” ยศพล กล่าวถึงการทำงานกับนักกีฬาระดับโลก ท่ามกลางสถานการณ์ โควิด-19

สำหรับเป้าหมายการทำงานร่วมกันของ ยศพล กับ เดนิส ชาโปวาลอฟ ในศึกออสเตรเลียน โอเพ่น หนนี้ อย่างน้อยคือการผ่านเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศ รวมถึงการก้าวขึ้นมาอยู่ในท็อป 5 โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ ก้าวขึ้นไปเป็นมือ 1 ของโลกให้ได้

“ผมมีความตั้งใจว่า วันหนึ่งหากได้ดูแลนักกีฬามือ 1 ของโลก จะเลิกรับงานดูแลนักกีฬาอาชีพต่างชาติ และจะกลับไปดูนักกีฬาไทยให้ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยให้อยู่ในท็อป 100 และสุดท้ายที่อยากจะให้เกิดขึ้นให้ได้ ก็คือ อยากปั้นดินให้เป็นดาว ในสายงานกายภาพ เพื่อส่งต่อความรู้ และประสบการณ์ให้กับผู้ที่มีใจรัก และอยากที่จะเดินในเส้นทางนักกายภาพ” ยศพล เผยถึงฝันสูงสุดในเส้นทางนักกายภาพ

วันนี้ ยศพล พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความสามารถ ได้นำพาตัวเขามาถึงจุดนี้ โดยตลอดระยะเวลา 14 ปี บนเส้นทางนักกายภาพนักกีฬา ทำให้เขาได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ และเป็นนักกายภาพอาชีพอย่างเต็มตัว

LTAT