ออสเตรเลียน โอเพ่น ในความทรงจำของ “เพียซ” วรัชญา วงค์เทียนชัย
ออสเตรเลียน โอเพ่น ในความทรงจำของ “เพียซ” วรัชญา วงค์เทียนชัย
หากพูดถึงศึกออสเตรเลียน โอเพ่น สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงคือ แกรนด์ สแลม แรกของปี ที่แข่งขันกันบนพื้นผิวสนาม ฮาร์ด คอร์ต ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนอบอ้าว
ออสเตรเลียน โอเพ่น ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งแกรนด์สแลมที่นักกีฬาไทยมีโอกาสเข้าร่วมแข่งขันมากที่สุด และมักทำผลงานออกมาได้ดีเสมอ
“เพียซ” วรัชญา วงค์เทียนชัย อดีตนักหวดหญิงทีมชาติไทย เหรียญทองหญิงคู่ เทนนิสซีเกมส์ 2015 ที่สิงคโปร์ และเจ้าของเหรียญทองเทนนิส จากกีฬามหาวิทยาลัยโลก ครั้งที่ 29 ที่ไต้หวัน เป็นหนึ่งในนักเทนนิสไทย ที่ผ่านประสบการณ์เข้าร่วมแข่งขันในศึก ออสเตรเลียน โอเพ่นมาแล้ว ตั้งแต่รุ่นเยาวชน (2 ครั้ง) ไปจนถึง การลงแข่งขันในฐานะนักกีฬาอาชีพอีก 1 ครั้ง เมื่อปี 2017 ในประเภทหญิงคู่ ซึ่งแม้ว่าปีดังกล่าวสาวไทย ซึ่งจับคู่กับ หวัง เฉียง (จีน) ปราชัย ให้กับคู่ของ ยาโรสลาว่า ชเวโดว่า (คาซัคสถาน) กับ วาเนีย คิง (สหรัฐฯ) ตั้งแต่รอบแรก แต่ก็เพียงพอที่จะสร้างความประทับใจ และอยู่ในความทรงจำ ของเจ้าตัวมาจนถึงทุกวันนี้
“ถ้าพูดถึงเรื่องบรรยากาศ มนต์ขลัง ออสเตรเลียน โอเพ่น คงไม่เท่ากับ วิมเบิลดัน แต่สิ่งที่ทำให้นักกีฬาหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ออสเตรเลียน โอเพ่น เป็น แกรนด์สแลมที่ดีที่สุดในบรรดา 4 แกรนด์สแลม เพราะฝ่ายจัดค่อนข้างใส่ใจรายละเอียดในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่การคอยดูแล อำนวยความสะดวกให้กับตัวนักกีฬาพร้อมทีมงานผู้ติดตาม รวมถึงจำนวนเงินรางวัลที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกปี และเงินติดกระเป๋าพิเศษ ไปจนถึงของที่ระลึกประจำทัวร์นาเม้นท์ให้กับผู้เข้าแข่งขัน” วรัชญา ย้อนอดีตให้ฟัง
อีกหนึ่งเสน่ห์ของ ออสเตรเลียน โอเพ่น คือคุณจะได้เห็นนักหวดจากเอเชียเข้าร่วมแข่งขันมากเป็นพิเศษ หากเทียบกับศึกแกรนด์สแลมอื่นๆ เนื่องจากฝ่ายจัดเล็งเห็นถึงโอกาสและต้องการให้นักกีฬาเอเชียจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในศึกแกรนด์สแลมแรกของปี ด้วยการจัดทัวร์นาเม้นท์ เทนนิสออสเตรเลียน โอเพ่น เอเชีย-แปซิฟิก ไวลด์การ์ด เพลย์ออฟ ซึ่งเป็นรายการพิเศษสำหรับนักเทนนิสเอเชีย เพื่อชิงชัยไวลด์การ์ดเข้าร่วมแข่งในรอบเมนดรอว์ ซึ่งในอดีต มีนักหวดไทยหลายคนที่เคยคว้าแชมป์ พร้อมกับตั๋วไวลด์การ์ดในรอบเมนดรอว์มาแล้ว อาทิ ลักษิกา คำขำ รวมถึง คู่แฝดมหัศจรรย์ สนฉัตร และ สรรค์ชัย รติวัฒน์
“เพียซ คิดว่าออสเตรเลียน โอเพ่น เป็นแกรนด์สแลมสำหรับคนเอเชีย ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าคนเอเชียจะต้องเป็นแชมป์ แต่หมายถึง ออสเตรเลียน โอเพ่น เป็นแกรนด์สแลมที่เปิดโอกาสด้วยการมอบพื้นที่ให้กับนักหวดจากทวีปเอเชียได้มาแสดงฝีมือมากที่สุด ขณะเดียวกันด้วยบรรยากาศโดยรวม ทั้งสภาพอากาศที่ร้อนเหมือนกับบ้านเรา รวมถึงสภาพพื้นผิวสนาม ซึ่งเป็นฮาร์ดคอร์ต ทำให้ไม่ต้องปรับตัว หรือปรับจังหวะในการตีมาก เมื่อเทียบกับอีก 3 แกรนด์สแลม”
ปัจจุบัน “เพียซ” ในวัย 31 ปี ใช้ชีวิตกับครอบครัวอยู่ที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ร่วมกับสามี และลูกชายตัวน้อยวัย 9 เดือน พร้อมเผยกับ แอดมิน เกี่ยวกับอนาคตการเล่นเทนนิส หลังจากที่พักแร็กเก็ตชั่วคราว
“หลังจากที่หยุดไป 1 ปี ตั้งแต่ท้องได้ 5 เดือน ก็เริ่มกลับมาซ้อมแล้ว ช่วงแรกยอมรับว่ายากมาก เพราะต้องซ้อมเทนนิสควบคู่ไปกับการเลี้ยงลูก หลายๆ ครั้ง ต้องพาลูกนั่งรถเข็นไปข้างสนาม ระหว่างที่ซ้อมอยู่ถ้าได้ยินเสียงร้องก็ต้องสลับมาดูลูก ทำให้ซ้อมได้เต็มที่ประมาณ 45 นาที – 1 ชั่วโมง รวมถึงหน้าที่ความรับผิดชอบที่บ้านอีกหลายอย่าง ทำให้ค่อนข้างหนักในช่วงแรกที่เริ่มกลับมาซ้อม ส่วนอนาคตถ้ามีโอกาส ก็ยังอยากกลับไปแข่ง คิดว่าศักยภาพตัวเองยังคงเล่นได้ ยังเชื่อมั่นในประสบการณ์จากการเล่นอาชีพ และอยากจะลองวัดตัวเองดูว่า จะไปได้ไกลแค่ไหน ทุกวันนี้ยังอยากวิ่งไล่หวดลูกเทนนิสในคอร์ต ยังรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้ตี” เพียซ เผยทิ้งท้าย
ตลอดเวลาที่ผ่านมา วรัชญา ถือเป็นอีกหนึ่งนักเทนนิสไทย ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งในและนอกสนามให้กับน้องๆนักกีฬารุ่นใหม่ จากนี้จะคอยติดตามและเป็นกำลังใจให้ “เพียซ” ทั้งในบทบาทครอบครัวที่ต้องเป็นทั้งคุณแม่ของลูก และภรรยาของสามี รวมถึงเอาใจช่วยให้คัมแบ็กในบทบาทของ นักกีฬา อาชีพ ได้อย่างที่ตั้งใจไว้….