“แต้ว-ทรรศพร”รอเวลาคืนคอร์ตอาชีพ
คุยนอกคอร์ต :
อดเปรี้ยวไว้กินหวาน….
“แต้ว-ทรรศพร”รอเวลาคืนคอร์ตอาชีพ
“ความฝันของหนูไม่ใช่การเป็นมือ 1ของโลก หนูเพียงแค่อยากทำให้คนที่เข้ามาดูสนุก และมีความสุขกับการเล่นเทนนิสของหนู”
ประโยคข้างต้นเป็นสิ่งที่ “แต้ว” ทรรศพร นาคหล่อ นักเทนนิสดาวรุ่งของไทยได้กล่าวกับสื่อมวลชนไว้เมื่อหลายปีก่อนขณะที่อายุในตอนนั้นเพียงแค่ 15 ปี ถึง “ความฝันสูงสุด” ในชีวิตการเล่นกีฬาเทนนิส
ฟังแล้วก็ยังรู้สึกแปลกใจว่า “ทำไม???” ความฝันของนักหวดผู้นี้มันช่างแตกต่างจากนักเทนนิสเยาวชนคนอื่นๆที่ส่วนใหญ่มักจะฝันอยากจะประสบความสำเร็จในการแข่งขัน ทั้งการคว้าแชมป์ การได้ไปเล่นในรายการนั้นรายการนี้ หรือ แม้กระทั่งฝันที่ยิ่งใหญ่อย่างการก้าวสู่การเป็น มือ 1 ของโลก
แต่สำหรับ ทรรศพร กลับฝันแค่เพียงอยากเล่นเทนนิสให้คนได้เข้ามาดูสนุกและมีความสุขกับเกมที่เธอลงสนาม..เท่านั้น
“หนูคิดว่าถ้าเราสามารถเล่นเทนนิสให้คนที่เข้ามาดูมีความสุข และ สนุกกับเกมที่เราเล่น นั่นก็หมายความว่าวันนั้นเราต้องลงสนามเล่นให้ได้ดีที่สุด เล่นอย่างเต็มที่ ไม่ว่าผลจะออกมาว่าเราแพ้ หรือ จะเป็นฝ่ายชนะ คนดูก็จะยังประทับใจกับการเล่นเสมอ”
เพราะฉะนั้นในทุกๆครั้งที่ ทรรศพร ลงสู่สนามแข่งขัน เธอจะมุ่งมั่น และ ตั้งใจโชว์ฟอร์มการเล่นแบบเกินร้อย ทั้งการแสดงออกด้วยท่าทาง แววตา จนถูกยกให้เป็น “เลือดใหม่” แห่งวงการเทนนิสไทยที่จะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักของชาติในอนาคตได้สบายๆ
แต่หลังเสร็จสิ้นภาระกิจการรับใช้ชาติชุดเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่อินโดนีเซีย และการแข่งขันยูธ โอลิมปิกเกมส์ 2018 ที่อาร์เจนติน่า ทรรศพร ได้ตัดสินใจเดินทางไปเรียนในระดับอุดมศึกษา ที่มหาวิทยาลัยรัฐไอโอว่า หรือ ไอโอว่า สเตจ ยูนิเวอร์ซิตี้ ที่ไอโอว่า สหรัฐอเมริกา ในคณะจิตวิทยาการจัดการ แทนการตัดสินใจเรียนในมหาวิทยาลัยที่เมืองไทย เพื่อจะได้มีเวลาในการออกตระเวนแข่งขัน “เทนนิสอาชีพ” ได้อย่างเต็มที่
“เหตุผลที่ตัดสินใจวางแร็กเกตชั่วคราวแล้วมาเรียนที่อเมริกา ก็เพราะว่าในช่วงที่ทัวร์แข่งไอทีเอฟก็มีโค้ชต่างชาติบอกว่า นักเทนนิสเอเชียส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จในการเทิร์นโปรอยู่ที่ช่วงอายุ 22-23 ปี ซึ่งถ้าหนูตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัยในเมืองไทยหนูอาจจะได้ออกแข่ง แต่หนูจะไม่ได้ซ้อมเต็มที่ และเป็นระบบจริงๆ เพราะที่เมืองไทยมีข้อจำกัดในการฝึกซ้อม ทั้งผู้ฝึกสอน คู่ซ้อม และ ระบบที่ครบวงจรในการซ้อม ซึ่งก็โชคดีที่โค้ชต่างชาติที่หนูรู้จักและค่อนข้างสนิทกันเขาอยู่ที่ไอโอว่าก็ได้แนะนำให้มาที่นี่”
แม้การมาเรียนที่สหรัฐอเมริกาด้วยเงื่อนไขของมหาวิทยาลัย คือ ทรรศพร จะต้องลงแข่งเทนนิสให้มหาวิทยาลัยในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ส่วนที่เหลือจากนั้นก็สามารถลงแข่งอาชีพได้ แต่ก็นับว่าเป็นเรื่อง “ยาก” เพราะการออกแข่งก็ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงเวลาในการเรียนก็จะหายไป
ทรรศพร ตัดสินใจที่จะ “หยุดพัก” เรื่องการแข่งเทนนิสอาชีพไว้ก่อน เพื่อมุ่งมั่นให้เวลากับการศึกษาอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็ยังได้ฝึกซ้อมเทนนิสอย่างเป็นระบบภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากโค้ชของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีวางโปรแกรมฝึกซ้อมที่ชัดเจน เป็นระบบทั้งด้านเทคนิคการตี การทำร่างกาย การดูแลด้านโภชนาการ จิตวิทยา และการเรียนก็มีอาจารย์พิเศษมาช่วยเสริมความรู้ในช่วงว่างให้เพิ่มเติมอีกด้วย
“หนูมาอยู่ที่นี่ได้ปีกว่าแล้ว สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ ความแข็งแรงของร่างกายที่พัฒนาชัดเจนมาก ที่สำคัญมุมมองในด้านการเล่นเทนนิส การตีก็เปลี่ยนไป เพราะที่นี่จะเน้นฝึกด้านจิตใจ อารมณ์เป็นหลัก เนื่องจากการแข่งขันในลีกของมหาวิทยาลัยจะค่อนข้างกดดัน นักเทนนิสทุกคนจากทุกมหาวิทยาลัยมีความจริงจังกับการเล่นมาก เพราะมีแมทช์แข่งทุกสัปดาห์”
การเรียนหนังสือในต่างประเทศที่แทบจะไม่ได้ใช้ภาษาไทยเลยนั้น ในช่วงแรกมีผลต่อการปรับตัวค่อนข้างมาก แม้จะต้องรับภาระหนักทั้งการเรียน และ การเล่นเทนนิสให้มหาวิทยาลัย แต่ ทรรศพร ก็ไม่ย่อท้อเพราะเธอมีกำลังใจที่ดีจากครอบครัว
“การตัดสินใจมาเรียนที่สหรัฐอเมริกาครอบครัวให้การสนับสนุนดีมาก และเมื่อมาที่นี่ก็ได้รับกำลังใจจากครอบครัวเยอะ โดยเฉพาะพ่อ “สมชาย นาคหล่อ” ซึ่งแม้จะเป็นคนไม่ค่อยพูด แต่ท่านก็แสดงให้เห็นถึงความอดทน ตลอดตั้งแต่หนูเป็นเด็ก อยากเล่นกีฬาอะไรพ่อก็จะพาไปสมัครพาไปเล่น หนูเล่นมาหลายกีฬาจนมาจบที่เทนนิส”
“ทุกครั้งที่ท้อแท้และเหนื่อยกับทั้งการเรียนและการเล่นเทนนิสหนูก็จะนึกถึงสิ่งที่พ่อทำให้เห็นมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องของความมานะ ความอดทน แม้วันนี้พ่อจะไม่อยู่กับหนูแล้ว หนูก็ยังเชื่อว่าพ่อจะยังส่งกำลังใจมาให้หนูก้าวไปข้างหน้าเพื่อนำความสำเร็จมาให้ตัวเองและครอบครัวได้ภาคภูมิใจทั้งเรื่องการเรียน และเทนนิส”
ทรรศพร บอกว่า การเลือกเรียนด้าน “จิตวิทยา” เพราะเธอเชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เล่นกีฬาเทนนิสได้ดีขึ้น เพราะเทนนิสเป็นกีฬาที่ต้องเล่นภายใต้ความกดดันสูง หากร่างกายแข็งแรงแต่จิตใจอ่อนแอ และมีมุมมอง ทัศนคติกับการเล่นที่ไม่ดี ก็จะไม่ช่วยให้ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน
ปัจจุบัน ทรรศพร เป็น 1 ใน 8 ของนักเทนนิสในทีมมหาวิทยาลัยรัฐไอโอว่า โดยมีเพื่อนร่วมทีมที่มาจากญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ยุโรป และ อเมริกาใต้ ซึ่งในปีที่ผ่านมาก็ได้ช่วยพาทีมเข้ามาติดกลุ่ม 12 อันดับแรกของทีมเทนนิสในมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ
ส่วนเรื่องการแข่งเทนนิสอาชีพนั้น ทรรศพร บอกว่า ยังคงเป็นสิ่งที่อยู่ในใจ และเป็นสิ่งที่เธอยังมุ่งมั่นที่จะกลับมาสานต่อทันทีที่สำเร็จจากการศึกษา
“หนูมองว่าตัวเองยังมีเวลาที่จะกลับมาแข่งเทนนิสอาชีพ และมีโอกาสประสบความสำเร็จในการแข่งขัน”
“หลายคนอาจจะคิดว่าการมาเรียนที่อเมริกาจะทำให้หนูทิ้งความฝันในการเป็นนักเทนนิสอาชีพไป หรือถ้ากลับมาเล่นอีกหนูก็จะไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จ แต่สำหรับตัวหนูแล้ว หนูยังมั่นใจและพร้อมที่จะพิสูจน์ว่าตัวเองยังมีความสามารถพอที่จะสู่สนามแข่งขันเทนนิสอาชีพได้ เพราะระหว่างเรียนหนูก็ไม่ได้แขวนแร็กเกต หนูยังฝึกซ้อม ยังได้แข่งขันอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดูแลของโค้ชที่เข้มงวด”
ผลงานการคว้าแชมป์เทนนิสรายการ “หัวหิน โอเพ่น 2020 พรีเซนเต็ด บาย แคล-คอมพ์ แอนด์ ซีซีเอยู อินดัสเทรียล 4.0” ที่หิวหิน จ.ประจวบคีรีขันธุ์ เมื่อปลายปีที่ผ่านมาสามารถพิสูจน์ในเบื้องต้นให้ได้เห็นแล้วว่า ทรรศพร มีพัฒนาการการเล่น มีร่างกายที่แข็งแรง และ สภาพจิตใจแข็งแกร่งขึ้นมากแค่ไหน
หลังจากนี้ ทรรศพร ก็แค่รอเวลาให้สำเร็จการศึกษา ได้รับใบปริญญาตรีในสาขาที่เรียนที่ยังเหลือเวลาอีกไม่กี่ปีเท่านั้น เธอก็จะกลับมาสู่สนามแข่งขันเทนนิสอาชีพ ในฐานะนักเทนนิสอาชีพอย่างเต็มตัว
และพร้อมที่จะสร้างผลงานที่เยี่ยมยอดให้แฟนๆเทนนิสไทยได้ชื่นชม และมีความสุขกับการเล่นของเธออีกครั้ง…แน่นอน
ประวัติ ชื่อ : ทรรศพร นาคหล่อ
ชื่อเล่น : แต้ว
วันเกิด : วันที่ 20 สิงหาคม 2544
ถนัด : มือขวา
เริ่มเล่นเทนนิส : อายุ 8 ขวบ
ผู้ฝึกสอน : “ครูหมู” กฤชวัฒน์ แก้วปรางค์ อั
นดับเยาวชนโลกสูงสุด : อันดับที่ 27 (เดี่ยว,คู่)
ผลงานนานาชาติ : แชมป์ดับเบิลยูทีเอ ฟิวเจอร์ สตาร์ 2014 ที่ประเทศสิงคโปร์ , แชมป์เทนนิสเยาวชนนานาชาติ ไอทีเอฟ จูเนียร์ ทัวร์ 8 รายการ (ประเภทเดี่ยว) และ 3 รายการ (ประเภทคู่), ผ่านการแข่งขันเทนนิสเยาวชน แกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการ ออสเตรเลียน โอเพ่น (ปี 2019 คู่กับ มนัญชญา สว่างแก้ว เข้ารอบก่อนรองชนะเลิศ), เฟร้นช์ โอเพ่น, วิมเบิลดัน และ ยูเอส โอเพ่น
ผลงานทีมชาติ : ติดทีมเยาวชนรุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี “จูเนียร์ เฟดคัพ 2016” คว้าอันดับ 8ในการแข่งขันเทนนิสเยาวชนชิงแชมป์โลก ประเภททีมหญิง ที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี, เข้าร่วมการแข่งขันเทนนิส ยูธ โอลิมปิกเกมส์ที่ประเทศอ่าร์เจนติน่า ปี 2018, ผ่านการแข่งขันเทนนิส เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่อินโดนีเซีย ปี 2018
ผลงานการแข่งขันในมหาวิทยาลัยรัฐไอโอว่า : ปี 2019-2020 เป็นผู้เล่นที่มีอันดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยทั้งในประเภทเดี่ยว (ลำดับที่ 72) และประเภทคู่ (สำดับที่ 48) ที่คว้าชัยชนะติดต่อกัน 4 นัดรวด และตลอดทั้งฤดูกาล สามารถคว้าชัยชนะ 8 นัดจากการลงแข่งทั้งหมด 9 นัด
ขอบคุณข้อมูลและภาพ : ทรรศพร นาคหล่อ#สมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทย#IowaStateUniversity#ITF