ปังยะ ผลพิรุฬห์ นักหวดผู้มี “หัวใจนักสู้”

Written by LTAT Admin

ปังยะ ผลพิรุฬห์
นักหวดผู้มี “หัวใจนักสู้”

คอลัมน์ : เปิดตัวทีมชาติ 2564
ปังยะ ผลพิรุฬห์
นักหวดผู้มี “หัวใจนักสู้”

ต่อให้จะแพ้สักกี่ครั้ง ก็ไม่มีทางที่เราจะได้เห็นน้ำตาของเด็กคนนี้ กลับกันมีแต่ความมุ่งมั่น ที่พยายามหาหนทางเพื่อกลับมาเอาชนะให้ได้ในวันข้างหน้า จนถูกตั้งฉายาว่า “The Iron Heart” เด็กคนนี้คือ ด.ช.ปังยะ ผลพิรุฬห์ หรือ “น้องปังยะ” นักเทนนิสเยาวชนทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี ประจำปี 2564 จากกรุงเทพฯ วัย 11 ปี (เกิด 6 มิถุนายน 2552) ปัจจุบันศึกษาอยู่ Year 7 โรงเรียนนานาชาติฮีทฟิลด์ (Heathfield International School)

“ปังยะ” เป็นเด็กชายที่เติบโตมาในครอบครัวที่เพรียบพร้อม โดยมีคุณพ่อ-คุณแม่ ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ และ ศ.ดร.ปังปอนด์ รักอํานวยกิจ สองนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรมนุษย์ เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งแม้ว่าในช่วงเริ่มต้นทั้งคู่จะมีความรู้ด้านเทนนิสเป็นศูนย์ แต่ก็ยังช่วยกันส่งเสริม และผลักดันในสิ่งที่ลูกชายสนใจอย่างเต็มที่ รวมถึงพี่สาว “ปังหวาน” ที่คอยให้กำลังใจน้องชายคนนี้ในทุกเรื่อง

“ยอมรับว่าในช่วงเริ่มต้น เราไม่มีความรู้เกี่ยวกับกีฬาเทนนิสเลย จำได้ว่าตอนที่พาน้องออกแข่งช่วงแรก น้องยังใส่ชุดฟุตบอลลงคอร์ต และเอ็นก็ยังเป็นเอ็นที่ติดมากับไม้ที่ซื้อมา แต่หลังจากที่เขาเริ่มจริงจัง ทำให้เราต้องหาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งเราเป็นนักวิชาการ และทำงานด้านทรัพยากรมนุษย์ เราพูดถึงการเลี้ยงดูเด็กอยู่แล้ว เริ่มจากการส่งเสริมในสิ่งที่ลูกให้ความสนใจ ซึ่งตอนนั้นปังยะแสดงออกมาให้เห็นเองเลยว่าต้องการที่จะเล่นเทนนิส เราจึงเน้นในเรื่องการพัฒนาจิตใจ ด้วยการส่งเสริมในเชิงบวก ไม่บังคับลูก จะดูที่กระบวนการมากกว่า” ศ.ดร.ปังปอนด์ เท้าความถึงจุดเริ่มต้น

“ปังยะ” เริ่มต้นการเรียนเทนนิสด้วยวัย 6 ขวบ โดยมี “ครูป๋อง” นายกิตติพงษ์ ตรุวรรณ์ (ครูสอนเทนนิสที่สนามเทนนิส จุฬาฯ) ที่เปรียบเสมือนครูคนแรก และที่นี่เองทำให้เห็นแววในตัวของ ปังยะ และเชื่อว่าสามารถเดินในเส้นทางนี้ได้ หากได้รับการฝึกสอนอย่างถูกหลัก

หลังจากได้รู้จักกับกีฬาเทนนิสมากขึ้น ทำให้ “ปังยะ” มีภาพที่ชัดเจน พร้อมกับมีเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น ครอบครัวจึงตัดสินใจส่ง “ปังยะ” เข้าไปรับการฝึกสอนที่สถาบัน ปิรามิด อะคาเดมี่ ซึ่งการมาที่สถานที่แห่งนี้เป็นการเปิดโลกเทนนิสของ “ปังยะ” ได้เข้าสู่กระบวนการฝึกพื้นฐานตั้งแต่แรกเริ่ม รวมถึงการปรับเปลี่ยนวงการตีใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เข้ากับสไตล์ตัวเอง จนในที่สุด “ปังยะ” ก็สามารถทำผลงานได้น่าประทับใจ มีคะแนนเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย ในประเภทชายเดี่ยว รุ่นอายุไม่เกิน 8 ปี ในปี 2560 จากการจัดอันดับของสมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทยฯ และสะสมคะแนนได้สูงสุด ในรุ่นอายุไม่เกิน 8 ปี ประเภทชายเดี่ยว ของรายการ ออล ไทยแลนด์ จูเนียร์ แชมเปี้ยนชิพ จนได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันกับทีมสิงคโปร์ พร้อมรับสิทธิ์ไปเข้าชมการแข่งขันเทนนิส ดับเบิลยูทีเอ ไฟนอลส์ 2017 ที่ประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังได้ครองตำแหน่งรองแชมป์ ศึกเทนนิสเยาวชนเพื่อความชนะเลิศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 55 ประจำปี 2560 รุ่นอายุไม่เกิน 8 ปี ประเภทชายเดี่ยวและชายคู่ อีกทั้งยังได้รองแชมป์ชายคู่ ศึกเทนนิสเยาวชนเพื่อความชนะเลิศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 58 ประจำปี 2563 ในรุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี

ราฟาเอล นาดาล นักหวดชาวสแปนิช คือต้นแบบที่ “ปังยะ” ชื่นชอบ ทั้งในเรื่องของวิธีการตี ความแข็งแกร่งของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของจิตใจนักสู้ และความเป็นสุภาพบุรุษยามอยู่ในคอร์ต

ขณะที่เส้นทางในการแข่งขันคัดทีมชาติครั้งนี้ของ “ปังยะ” ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ก็ใช้ความสามารถจนผ่านเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศ ด้วยการใช้ยุทธวิธีการตีที่เหนียวแน่น ประกอบกับการใช้ความคิด และโดยเฉพาะการมีหัวจิตหัวใจที่แข็งแกร่งเกินวัย รวมถึงไม่มีท่าทียอมแพ้ง่ายๆ แม้ตกอยู่ในสถานการณ์เป็นรอง

ส่วนที่มาของฉายา “The Iron Heart” ที่คนในวงการเทนนิสตั้งให้และเปรียบ “ปังยะ” เป็นนักหวดหัวใจแกร่ง มาจากการที่ต่อให้ “ปังยะ” จะแพ้สักกี่ครั้ง ก็ไม่มีทางที่เราจะได้เห็นน้ำตาของเด็กชายผู้นี้แม้แต่หยดเดียว กลับกันมีแต่ความมุ่งมั่น ที่พยายามจะหาหนทางเพื่อกลับมาเอาชนะให้ได้ในวันข้างหน้า

“ตั้งแต่แข่งมา ไม่ว่าน้องจะแพ้สักกี่ครั้ง ก็ไม่เคยร้องไห้ แม่จำได้ว่าครั้งแรกที่พาไปแข่งกับรุ่นพี่ ปังยะแพ้ราบคาบ 0-4, 0-4 จบเกมเดินออกมา น้องพูดกับแม่ว่า แม่คอยดูนะ ปังยะจะกลับไปซ้อมให้มากกว่าเดิม และกลับมาเอาชนะพี่เขาให้ได้ โดยไม่มีน้ำตาสักหยด หรือแม้แต่ทุกครั้งที่แพ้แต่ตอนจบเกมแล้วก็ขึ้นไปถ่ายรูปรับรางวัล น้องเป็นหนึ่งในนักกีฬาที่มีรอยยิ้มกว้างและสดใสมากที่สุด ถึงจะแพ้ แต่ก็รู้สึกว่ามีความสุข เพราะรู้ตัวว่าได้ทำเต็มที่แล้ว” ศ.ดร.ปังปอนด์ เล่าเรื่องลูกชายสุดที่รักให้ฟัง

ในขณะที่ “ปังยะ” กำลังมุ่งมั่นกับการเล่นเทนนิส ขณะเดียวกัน คุณพ่อ-คุณแม่ นอกจากจะให้การสนับสนุน และเป็นกำลังใจสำคัญแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ครอบครัวพยายามร่วมกันคือ ช่วยส่งเสริมด้านสภาพจิตใจ โดยเน้นให้คิดบวก เข้มแข็ง อดทน ไม่ยอมแพ้ และที่สำคัญจะต้องเป็นนักกีฬาที่มีมารยาทที่ดีทั้งในและนอกสนาม

“ตอนนี้เขายังเป็นเด็ก อาจยังแสดงออกได้ไม่มาก แต่ในอนาคตเราคิดว่าเขาต้องเป็นสุภาพบุรุษ ห้ามทำกิริยามารยาทที่ไม่ดี เพราะที่ผ่านมา แพ้-ชนะ เราไม่เคยว่า ยกตัวอย่าง คุณพ่อเคยบอกว่าถ้าปังยะหงุดหงิดในคอร์ตแล้วระบายด้วยการทุบไม้ จะให้เลิกเล่นเทนนิส ซึ่งน้องก็ไม่เคยทำให้เห็นเลย เพราะถ้าปังยะคิดว่าเขาอยากเป็นนักกีฬาระดับโลก หรืออยากเป็นไอดอลให้กับคนอื่น เราเชื่อว่าต้องเริ่มปลูกฝังเขาตั้งแต่เป็นเด็ก” คุณแม่ปังปอนด์กล่าว

ด้าน “ปังยะ” ได้เผยความรู้สึกหลังผ่านการคัดเลือกเป็นตัวแทนเยาวชนทีมชาติไทยว่า “ดีใจมากๆ เลยครับ แล้วก็รู้สึกภูมิใจกับตัวเองที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าเราสามารถทำได้ ขอบคุณทีมโค้ชสถาบันปิรามิด และขอขอบคุณคู่แข่งทุกคนที่ผมแข่งมาด้วย ถ้าไม่มีพวกเขา ผมคงไม่ได้มายืนตรงจุดนี้ ขอบคุณสมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทยฯ ด้วยครับ ตอนนี้ผมมีธงชาติติดที่หน้าอกแล้ว ผมจะพยายามทำเพื่อประเทศไทยครับ”

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “ปังยะ” ก้าวมายืนในจุดนี้ได้คือเรื่องของ “ทัศนคติ” และหัวจิตหัวใจที่แข็งแกร่งเกินวัย “หัวใจนักสู้” ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ทำให้ชื่อของ “ปังยะ” ด.ช.ปังยะ ผลพิรุฬห์ ปาดหน้านักหวดยอดฝีมือคนอื่นๆ เข้ามาเป็นหนึ่งในขุนพลนักหวดเยาวชนทีมชาติไทยชุดนี้

LTAT