“เจมม่า” กัญจน์ชญา จูงวัฒนาติดทีมชาติ เพราะ “พลังบวก”

Written by LTAT Admin

“เจมม่า” กัญจน์ชญา จูงวัฒนาติดทีมชาติ เพราะ “พลังบวก”

ในการแข่งขันคัดเลือกนักเทนนิสเยาวชนทีมชาติไทย ประจำปี 2564 มีนักหวดดาวรุ่งหลายคนที่ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “เจมม่า” กัญจน์ชญา จูงวัฒนา สาวน้อยวัย 13 ปี ที่นอกจากจะมีฝีไม้ลายมือที่จัดอยู่ในระดับแถวหน้าของรุ่นแล้ว เธอยังมี “พลังบวก” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมจนสามารถประสบความสำเร็จในการคัดทีมชาติได้เป็นครั้งแรก

“เจมม่า” เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2550 เป็นพี่สาวคนโตของน้องสาวคนเล็ก ด.ญ.กีรตยา จูงวัฒนา โดยมี คุณพ่อกฤษฎี กับคุณแม่มารินี จูงวัฒนา เป็นผู้ให้กำเนิด

ย้อนไปในช่วงวัยเด็ก กีฬาชนิดแรกที่ “เจมม่า” เริ่มเล่น หาใช่เทนนิส แต่เป็น กอล์ฟ เนื่องจากคุณพ่อ ซึ่งเคยผ่านการเป็นอดีตโปรกอล์ฟ และเคยเปิดโรงเรียนสอนกอล์ฟ เป็นผู้นำทาง โดยได้เตรียมการจัดแจงอุปกรณ์ทุกอย่างไว้พร้อมเสร็จสรรพ ทว่าด้วยวัยที่ยังเล็ก ร่างกายยังแข็งแรงไม่พอ ประกอบกับในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน “เจมม่า” ในวัย 4 ขวบครึ่ง ได้มารู้จักกับ เทนนิส ที่แร็กเก็ตคลับ ซึ่งสถานที่แห่งนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ “ครอบครัวจูงวัฒนา” ตัดสินใจ เบนเข็ม มาที่เทนนิส หลังจากสัมผัสได้ว่าลูกสาวทำได้ดี และมีความสุขกับมัน

หลังจากเรียนรู้ทักษะของกีฬาเทนนิสไปได้สักระยะ “เจมม่า” เริ่มฉายแววเด่น จนหัวหน้าผู้ฝึกสอนของ แร็กเก็ตคลับ เอ่ยปากกับ “ครอบครัวจูงวัฒนา” ว่า หากลูกสาวเอาจริงเอาจังกับเทนนิส มีโอกาสที่จะก้าวไปถึงขั้นทีมชาติ และประสบความสำเร็จบนเส้นทางนักหวดอาชีพได้ ขณะที่ ปัจจุบัน “เจมม่า” ฝึกซ้อมอยู่ที่ อิมแพ็ค เทนนิส อะคาเดมี ภายใต้การดูแลของ สตีเฟ่น คูน ชาวออสซี่ ซึ่งเป็นโค้ชคนเดียวกับ ภาธร หาญชัยกุล นักหวดรุ่นพี่ที่เป็นอีกหนึ่งในแรงผลักดันที่ช่วยให้ “เจมม่า” ตั้งใจฝึกซ้อมอย่างขะมักเขม้น

สำหรับผลงานที่โดดเด่นของ “เจมม่า” ในเวทีระดับเยาวชน สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รุ่นอายุไม่เกิน 14 ปี เทนนิสเยาวชนเพื่อความชนะเลิศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 58, รองชนะเลิศอันดับ 2 รุ่นอายุไม่เกิน 14 ปี พีทีที-ลอนเทนนิสพัฒนาฝีมือ รอบมาสเตอร์ ประจำปี 2563, ชนะเลิศ รุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี รายการ แอลทีโอ จูเนียร์ แชมเปี้ยนชิพส์ 2021 ครั้งที่ 1, รองชนะเลิศ รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี รายการ สิงห์ แกรนด์สแลม เอ็กซ์พรีเรียนซ์ 2019 (พร้อมคว้าสิทธิ์เข้าร่วมชมบรรยากาศการแข่งขัน ออสเตรเลียน โอเพ่น)

ไม่เพียงแต่การเดินสายแข่งขันทัวร์นาเมนท์ภายในประเทศเท่านั้น แต่ “เจมม่า” ยังมีโอกาสได้ออกไปหาประสบการณ์ในต่างแดน ตั้งแต่ 8 ขวบ โดยเฉพาะการเดินทางไปเข้าร่วมการแข่งขันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในศึกจูเนียร์ ออเรนจ์ โบว์ล อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ไมอามี ฟลอริดา และ เอ็ดดี้ เฮอร์, ไอเอ็มจี อะคาเดมี่ ที่ฟลอริดา ซึ่งโปรดังอย่าง โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ก็เคยชนะแมทช์นี้มาแล้วตอนช่วงอายุ 14-16 ปี รวมถึงมีโอกาสลงแข่งขันในรายการ เดอะ ลิตเติล โม อินเตอร์เนชั่นแนล, นิวพอร์ต บีช แคลิฟอร์เนีย ในปี 2018 ซึ่งในรายการดังกล่าว “เจมม่า” สามารถคว้าแชมป์ประเภทคู่ผสม และตำแหน่งรองแชมป์ประเภทหญิงเดี่ยว ในรุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี มาครองได้สำเร็จ

“ผมอยากให้ลูกสาวได้เห็นถึงความแตกต่างของเทนนิส ในมุมมองระดับโลกกับบ้านเรา ซึ่งการไปเจอกับนักกีฬาต่างชาติ ทำให้เขาได้เรียนรู้สไตล์และวิธีการรับมือที่แตกต่างออกไป ยกตัวอย่างตอนไปแข่ง จูเนียร์ ออเรนจ์ โบว์ล อินเตอร์เนชั่นแนล และ เอ็ดดี้ เฮอร์ แม้ว่าผลการแข่งขันจะไม่ดีเท่าที่ควร แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือประสบการณ์ที่ล้ำค่า ซึ่งหาที่ไหนไม่ได้

ส่วน เดอะ ลิตเติล โม อินเตอร์เนชั่นแนล ปีแรกที่ไปแข่งได้รองแชมป์ประเภทหญิงเดี่ยว ทางผู้จัดการแข่งขันรายการนี้ได้มอบทุนให้ 500 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเชิญให้ “เจมม่า” กลับไปแข่งขันในปีถัดไปอีก ก่อนที่จะกลับไปคว้าแชมป์ประเภทคู่ผสม ซึ่งเป็นการจับคู่กับนักกีฬาต่างชาติลงแข่งครั้งแรก ทำให้เขาได้เรียนรู้วิธีการวางแผน และเล่นร่วมกันได้อย่างลงตัว

ทุกอย่างทำเพื่อให้น้องได้ไปเปิดหูเปิดตา ให้รู้ว่าตัวเองชอบกีฬาแบบนี้จริงๆ จะต้องทำตัวอย่างไร เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่าย นักกีฬาเด็กทุกคนมีฝันอยากเป็นมืออาชีพ แต่ไม่รู้ว่าเบื้องหลังมันไม่ได้สวยงามเหมือนที่เห็นในทีวี จึงอยากให้เขารู้ตรงนั้นตั้งแต่เด็กว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้” คุณพ่อกฤษฎี เผยถึงการพาน้องเจมม่า ไปเปิดประสบการณ์แข่งขันเทนนิสที่ อเมริกา

“เจมม่า” มีสไตล์การตีที่หนักแน่นและรวดเร็วจากท้ายคอร์ต โดยใช้การตีต้อนคู่ต่อสู้เพื่อเปิดคอร์ตและหาจังหวะยิงวินเนอร์ อีกทั้งน้องยังมีจุดเด่นอีกด้านของเกมอยู่ที่การคิดบวกตลอดเวลา ซึ่งเมื่อเกิดปัญญาขึ้นในสนาม จะสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ด้วยตัวเอง โดยมี เบียงก้า อันเดรสคู นักหวดสาวแคนาดา เป็นต้นแบบ เพราะชื่นชอบทัศนคติยามอยู่ในคอร์ท รวมถึงเทคนิคการวางบอล และความหลากหลายในเกม

นักหวดสาวน้อยรายนี้เป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียร ตั้งใจฝึกซ้อมและมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเองสูง ไม่ว่าจะเป็นการทำร่างกาย ทั้งในและนอกคอร์ต รวมถึงการใส่ใจดูแลร่างกาย ด้วยการควบคุมและเลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้หลอมรวมเป็นจุดแข็งที่ทำให้ ชื่อของ “เจมม่า” ก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับแถวหน้าของรุ่น จนสามารถก้าวขึ้นมามีชื่อเป็น 1 ใน 3 ของนักหวดเยาวชนหญิงทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 14 ปี ประจำปี 2564

ด้าน “เจมม่า” ยังได้เผยถึงความรู้สึกและความประทับใจที่ได้สัมผัสบรรยากาศของการแข่งขันคัดตัวทีมชาติไทยครั้งนี้ด้วยว่า “หนูไม่ได้กังวลหรือตื่นเต้นสำหรับการแข่งขันคัดทีมชาติในครั้งนี้ เพราะเคยได้ร่วมการแข่งขันคัดทีมชาติมาบ้างแล้ว และเคยมาแข่งหลายๆ รายการที่สนามแห่งนี้แล้ว อย่างไรก็ดีในช่วงแรกของการแข่งขัน หนูรู้สึกประหลาดใจ เพราะเมื่อหนูมาถึงสนามตั้งแต่ 7 โมงเช้าเพื่อมาวอร์มอัพ ปรากฏว่าคอร์ตเต็มหมดแล้ว ซึ่งถ้าเป็นรายการแข่งขันอื่นๆ ยังมักจะมีคอร์ตว่างอยู่ มันเลยทำให้รู้สึกได้ถึงความจริงจังและทุกคนให้ความสำคัญกับรายการนี้มาก อีกทั้งยังมีนักเทนนิสฝีมือดีหลายคนร่วมเข้าคัดตัวทีมชาติในครั้งนี้ด้วย

ขณะที่บรรยากาศรอบสนามไม่ได้มีผลกระทบ หรือสร้างความกดดันต่อการเล่นของหนูเลย ในทางตรงกันข้ามมันทำให้หนูสนุกและยังเป็นการกระตุ้นพลังบวกในตัวหนูให้มีเพิ่มมากขึ้นไปอีกด้วย ซึ่งในการแข่งขัน 1 แมทช์ต่อวัน ทำให้หนูมีเวลากลับไปฝึกซ้อมแก้ไขข้อบกพร่องและเพิ่มเติมช็อตสำหรับการเล่นในวันรุ่งขึ้น หนูยังได้เสริมสร้างและฟื้นฟูร่างกายเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บอีกด้วย หนูรู้ว่าการเดินทางในเส้นทางเทนนิสของหนูมันอีกยาวไกล ยังมีรายการแข่งขันที่ใหญ่และสำคัญรอหนูอยู่อีกในอนาคต”

ไม่ใช่เรื่องง่ายกับเด็กในวัยนี้ที่จะรับมือกับสถานการณ์ความกดดันในแมทช์ที่นักกีฬาทุกคนต่างมีความคาดหวัง ซึ่ง “เจมม่า” ไม่ได้เพียงแต่แสดงออกมาในสนามได้อย่างยอดเยี่ยมเท่านั้น ขณะเดียวกันเธอยังสามารถก้าวผ่านสิ่งที่ยากที่สุดของจิตใจตัวเองไปได้อย่างสมบูรณ์แบบ

“ความท้าทายต่อความเข้มแข็งด้านจิตใจเป็นสิ่งที่ยากที่สุดของหนู ความรู้สึกกดดันในรอบแรกๆ ของการแข่งขันที่หนูต้องเจอกับคู่แข่งที่เคยชนะ และก็มีหลายครั้งที่หนูแพ้ ทำให้เกิดความกังวลต่อผลการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น แต่ความตั้งใจที่หนูอยากจะติดทีมชาติในครั้งนี้ให้ได้ ประกอบกับผลจากการเตรียมตัวและการฝึกซ้อมอย่างหนักก่อนการแข่งขัน ทำให้หนูมั่นใจและควบคุมสภาพจิตใจได้ตลอดช่วงเวลาที่แข่งขัน

สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าหนูพัฒนาขึ้นก็คือการที่หนูสามารถควบคุมพลังงานบวกทั้งทางร่างกายและจิตใจให้คงอยู่ตลอดการแข่งขัน เช่น การให้กำลังใจกับตัวเองโดยการปั๊มมือ รวมถึงภาษากายที่เป็นบวกทั้งหมดด้วย มันช่วยส่งเสริมให้หนูรักษารูปเกมและพละกำลังในการแข่งขันโดยไม่คำนึงคู่ต่อสู้ บางรอบที่มีคะแนนนำอยู่ที่ 6-1, 4-1 หนูก็ยังรักษารูปเกมและพลังในตัวเองให้คงที่ตั้งแต่ต้นจนจบ

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือทุกๆ เช้าก่อนการแข่งขัน หนูจะนั่งสมาธิ เพื่อทำจิตใจให้สงบและอยู่กับปัจจุบันให้ได้มากที่สุด หนูรู้ว่าคู่ต่อสู้หนูทุกคนมีฝีมือเพราะมาจากการคัดเลือกในระดับประเทศ และที่ผ่านมาหนูก็เคยทั้งชนะและแพ้มาก่อน ฉะนั้้น การศึกษาวิธีการเล่น จุดอ่อนและจุดแข็งของคู่ต่อสู้ ทั้งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาและคลิปวิดีโอต่างๆ จึงทำให้หนูสามารถวางแผนการเล่นได้ดียิ่งขึ้น” กัญจน์ชญา เล่าให้ฟัง

น้องเจมม่า ยังได้บอกอีกว่า ที่ผ่านมา เทนนิสได้ให้อะไรหลายอย่างกับน้อง นอกจากประสบการณ์ที่ได้เดินทางไปแข่งขันในประเทศต่างๆ ได้ท่องเที่ยวและพบเจอกับเพื่อนใหม่ๆ แล้ว สิ่งสำคัญที่น้องได้รับจากเทนนิสคือการยอมรับกับผลลัพธ์ที่ออกมา หรือการยอมรับในความผิดหวังและสามารถควบคุมมันได้ เทนนิสยังสอนให้น้องมีความรับผิดชอบ มีวินัยและการเคารพในตัวเอง เพราะหลายครั้งที่น้องต้องออกกำลังกายเอง น้องจะทำมันอย่างตั้งใจและครบถ้วนตามโปรแกรมที่วางไว้เสมอ

“นอกจากนี้ เทนนิสยังมีส่วนช่วยหนูในด้านการเรียน เช่นการควบคุมความตื่นเต้นและความกดดันในช่วงสอบ เทนนิสสอนให้หนูคิดอย่างมีเหตุผลและหลักการ เช่น การวางแผนในการวางบอล และสิ่งสำคัญมากๆ อย่างสุดท้ายคือ เทนนิสทำให้หนูมีความสุข และรู้สึกผ่อนคลายทุกครั้งเมื่ออยู่ในคอร์ต”

ปัจจุบัน “เจมม่า” ในวัย 13 ปี ศึกษาอยู่ที่ โรงเรียนนานาชาติ NIST ในระดับ Year 8E สำหรับกิจกรรมยามว่างหลังเลิกเรียน และฝึกซ้อมเทนนิสคือ เป็นแม่ค้าขายของออนไลน์ โดย “เจมม่า” มีร้านขายของเล่นของตัวเองในอินสตราแกรม ชื่อร้านว่า “jj.secondhand.bkk” ซึ่งเป็นอีก 1 งานอดิเรก ที่ “เจมม่า” ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจสุดกำลังที่เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนึงจะทำได้

ทุกอย่างที่ “เจมม่า” กัญจน์ชญา จูงวัฒนา ทำนั้นล้วนเต็มไปด้วยความทุ่มเท ซึ่งรวมถึงการเล่นเทนนิส ที่เชื่อว่าจะทำได้ดีเช่นกัน โดยเฉพาะในฐานะนักเทนนิสเยาวชนหญิงทีมชาติไทย

LTAT