“พรสวรรค์”หรือจะสู้”พรแสวง”พัชรินทร์ ชีพชาญเดชใช้ความพยายามนำทางสู่ความสำเร็จ
คอลัมน์ : เปิดตัวทีมชาติ 2564
หลายคนอาจจะเข้าใจว่า นักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ ก้าวสู่ระดับแชมเปี้ยน หรือ เป็นสุดยอดตำนานนักกีฬาระดับโลกได้นั้น จะต้องเป็นคนที่มี “พรสวรรค์” เท่านั้น
แต่จริงๆแล้ว “พรสวรรค์” เป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งเท่านั้น เพราะหากขาดซึ่ง “พรแสวง” ไม่มีความขยัน หมั่นฝึกฝน ฝึกซ้อม เรียนรู้ พัฒนาฝีมือความสามารถของตัวเองก็ไม่สามารถนำพาไปสู่ความสำเร็จได้และก็มีนักกีฬาหลายคนที่เปลี่ยนจาก “พรแสวง” ให้กลายเป็น “พรสวรรค์” พาตัวเองก้าวสู่เป้าหมายและประสบความสำเร็จสมดังมุ่งหวัง เช่นเดียวกับ “อีฟ” พัชรินทร์ ชีพชาญเดช นักเทนนิสทีมชาติไทยวัย 27 ปีที่พิสูจน์คำกล่าวที่ว่า “พรสวรรค์หรือจะสู้พรแสวง” ได้อย่างดี
“หนูเริ่มต้นจากการเล่นเทนนิสเพราะป๊าอยากให้เล่นกีฬา ในช่วงอายุ 9 ขวบก็ไปเล่นในสนามเทนนิสเทศบาลที่ขอนแก่น ที่เลือกเทนนิสก็เพราะตอนนั้นพี่บอล ภราดร กำลังดัง เด็กๆเล่นเทนนิสกันเยอะ แต่หนูก็ไปเล่นตามประสาเด็กๆ บ้านเรามีฐานะปานกลาง จึงไม่ได้จ้างโค้ชหรือเรียนเทนนิสจริงๆจังๆ อาศัยไปเล่นกับเพื่อนๆเท่านั้น”
แต่การได้เข้าไปเล่นและสัมผัสกับกีฬาเทนนิสในครั้งนั้น ถ้าจะคิดว่าเป็น โชคชะตา ฟ้าลิขิตให้ พัชรินทร์ ต้องผูกพันธ์จนถึงขั้นยึดเป็นอาชีพในปัจจุบันนี้ก็คงไม่ผิดนัก เพราะแม้ก้าวแรกที่จับแร็กเกตลงสู่สนามเทนนิส พัชรินทร์ ยังไม่เคยมีความคิดที่จะจริงจังกับกีฬาชนิดนี้ และไม่มีความคิดที่จะเล่นเพื่อเป็นอาชีพ หรือ ติดทีมชาติ เนื่องจากฐานะทางบ้านไม่เอื้ออำนวยให้ต้องทุ่มเทกับการเล่นกีฬาชนิดนี้ได้เต็มที่ ไม่สามารถจ้างโค้ชที่เก่งๆมาสอน ไม่สามารถออกแข่งขันเพื่อหาประสบการณ์ได้อย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญหลังจบการเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6 พัชรินทร์ ก็ต้องย้ายจากขอนแก่นไปอยู่กับแม่ที่ประเทศนอร์เว ในช่วง 5 ปีที่อยู่ต่างประเทศ การเล่นเทนนิสของเธอก็ยังทำได้ไม่เต็มที่ แม้จะยังมีซ้อมในคลับเทนนิสแถวบ้านพักอยู่บ้าง แต่ก็เป็นแค่การเล่นเพื่อออกกำลังกาย
แต่แล้วสิ่งที่ทำให้ พัชรินทร์ เริ่มวางเป้าหมายอยากจะเป็น “นักเทนนิสอาชีพ” ก็คือ การได้เห็นนักเทนนิสรุ่นพี่อย่าง ลักษิกา คำขำ, วรัชญา วงศ์เทียนชัย, นพวรรณ เลิศชีวกานต์, ณัฐนิดา หลวงแนม ลงซ้อมเทนนิสอยู่ที่สนามเทนนิสปิระมิด ความจริงจังในการฝึกซ้อม และ ชั้นเชิงในการเล่นดึงดูดความสนใจให้พัชรินทร์อยากที่จะเก่งได้แบบนั้นบ้าง
“ช่วงซัมเมอร์หนูจะกลับเมืองไทยตลอดและในช่วงที่มาไทยหนูได้ไปซ้อมเทนนิสที่สนามปิระมิด ลาดกระบัง ก็ซ้อมกับครูนัน, ครูจุ๊บ และ ครูกุ้ง ได้เห็นพี่ลัก,พี่เพียซ, พี่นก และพี่ๆทีมชาติคนอื่นๆมาซ้อมที่นั่น ก็แอบมองดูพี่ๆเขาซ้อมตลอดเพราะพี่ๆเขาเก่ง ตีเทนนิสแล้วดูสนุก ทำให้หนูเริ่มคิดว่าทำอย่างไรถึงจะเก่งอย่างพี่ๆเขาบ้าง ซึ่งตอนนั้นโค้ชที่สอนหนูก็บอกว่าถ้าอยากเก่ง อยากติดทีมชาติก็ต้องมีอันดับโลก ต้องออกแข่งอาชีพเพื่อเก็บคะแนนสะสมโลก”
พัชรินทร์ เก็บความคิดวาดฝันและเป้าหมายในใจลึกๆถึงการเป็นนักเทนนิสอาชีพไว้ในใจอยู่ถึง 5 ปี ทันทีที่เรียนจบระดับชั้นม.3 ที่นอร์เวแล้วเธอตัดสินใจในทันทีที่จะบอกแม่ว่า “อยากกลับเมืองไทย” เพื่อไล่ตามความฝันของตัวเอง
“ที่ตัดสินใจไปบอกแม่ว่าอยากเป็นนักเทนนิสอาชีพ อยากกลับเมืองไทยก็เพราะว่า ถ้าอยู่นอร์เว โอกาสที่หนูจะเป็นนักเทนนิสอาชีพมีน้อยมาก แม้จะอยู่ยุโรปแต่ที่นอร์เวการแข่งขันอาชีพก็ไม่เยอะ ต้องไปแข่งที่อื่นซึ่งก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง หนูก็คิดว่ากลับมาเมืองไทยน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีกว่า”
การกลับมาประเทศไทยเพื่อเริ่มต้นการเป็นนักเทนนิสอาชีพในวัย 17 ปีของ พัชรินทร์ ถือว่าค่อนข้างช้ามาก เพราะเธอต้องมาใช้เวลาเริ่มต้นปูทางด้านกีฬาเทนนิสใหม่ทั้งหมด เริ่มต้นปรับเทคนิค ปรับเกมการเล่นเพื่อลงสู่สนามแข่งขันเทนนิสอาชีพ โดยไม่เคยผ่านประสบการณ์การแข่งขันระดับนานาชาติในระดับเยาวชนมาก่อน
ช่วงเริ่มต้นการก้าวสู่การเทิร์นโปรเป็นนักเทนนิสอาชีพของพัชรินทร์ ผู้ที่ไม่มีดีกรีไม่มีผลงานทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ ถือเป็นการเริ่มต้นที่สุดจะท้าทาย และต้องใช้ความอดทนค่อนข้างสูง
“ตอนอายุ 18 ปีพยายามขอไวล์การ์ดลงแข่งรอบคัดเลือกเทนนิสอาชีพ และ สมัครลงแข่งขันทั้งๆที่ตัวเองไม่มีอันดับโลกอะไรเลย ไปสมัครไปเกาะโต๊ะรอแบบไม่รู้ว่าตัวเองจะได้เล่นหรือไม่อยู่หลายครั้ง จนที่สุดแล้วหนูก็ได้ไวล์การ์ดลงแข่ง ไอทีเอฟ โปรเซอร์กิต ราย การแรกในการแข่งขันที่พัทยา เป็นรายการระดับ 10,000 เหรียญสหรัฐ”
“ดีใจมากค่ะ และตอนนั้นหนูก็ใช้โอกาสที่ได้รับอย่างเต็มที่ หนูทำผลงานผ่านจากรอบคัดเลือกเข้าเมนดรอว์ถึงรอบที่สอง”
จากผลงานในรายการนั้นเหมือนเป็นการสร้างพลัง และสร้างขวัญกำลังใจให้ พัชรินทร์ มีความมุ่งมั่นมากยิ่งขึ้น ด้วยความเชื่อที่ว่า ตัวเองก็ทำได้
แต่ พัชรินทร์ ผู้ซึ่งผ่านการแข่งขันระดับนานาชาติมาน้อยมากๆ ทำให้ขาดซึ่ง “ประสบการณ์” ที่ผ่านมาเธอเล่นเทนนิสโดยใช้ความรู้สึกและฝีมือที่มีอยู่ล้วนๆในการลงแข่ง แต่เมื่อต้องออกสู่โลกกว้างได้ลงสนามแข่งขันเจอคู่แข่งที่หลากหลายมากขึ้น ความอ่อนด้อยเรื่องประสบการณ์ทำให้เธอจัดการกับปัญหาการตัดสินใจในการเล่น การแก้ไขสถานการณ์ในยามคับขัน รวมถึง การจัดการด้านสภาวะจิตใจที่มีความกลัว ตื่นเต้น และ เกร็ง ประหม่า ไม่ได้
พัชรินทร์ ต้องใช้ความอดทน ความพยายามอย่างยากลำบากกับการฝึกซ้อม และ การแข่งขันที่มีแต่แพ้กับแพ้อยู่เกือบ 5 ปี จนในที่สุดความพยายาม ความทุ่มเทต่างๆก็มาสัมฤทธิ์ผลในปี 2017 ที่เธอถือว่าเป็น “ปีทอง” สำหรับการเล่นเทนนิสของตัวเอง
เพราะนอกจากในปีดังกล่าว เธอจะสามารถคว้า “แชมป์” ไอทีเอฟ เวิลด์ ทัวร์ ระดับ 15,000 เหรียญสหรัฐ ได้ 2 รายการแล้ว ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทน”ทีมชาติ” ไปแข่งขันเทนนิสในกีฬามหาวิทยาลัยโลก ที่ไต้หวัน และ เอเชียนอินดอร์แอนด์มาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ที่เติร์กเมนิสถาน ซึ่งการแข่งขันในนามทีมชาติทั้ง 2 รายการนี้ ก็สามารถสร้างผลงานคว้าเหรียญรางวัลมาครองได้ด้วย
การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก ที่ไต้หวัน พัชรินทร์ คว้ามาได้ 1 เหรียญเงินทีมหญิง และ 1 เหรียญทองแดงหญิงเดี่ยว ขณะที่ เอเชียนอินดอร์ฯ คว้ามาได้ 1 เหรียญทองแดง หญิงเดี่ยว
“ดีใจและภูมิใจมากกับผลงานในปีนั้น เพราะมันเป็นบทพิสูจน์ให้ตัวเองว่า ถ้าเราขยัน มุ่งมั่น อดทน และพยายามให้หนัก ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้น แม้เราจะมีท้อบ้างแต่หนูก็ไม่ยอมถอย ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทำให้หนูรู้ว่า สิ่งที่ได้ทำมามันไม่สูญเปล่า หนูทำได้ และหนูจะต้องทำต่อไปให้ได้ดียิ่งขึ้นแน่นอน”
ในปี 2018 พัชรินทร์ ยังไม่หยุดพัฒนาความสามารถและขยันหาประสบการณ์จากการแข่งขันให้ตัวเองมากขึ้น ซึ่งปีนี้เธอยังสามารถคว้าแชมป์อาชีพระดับ ไอทีเอฟ 15,000 เหรียญสหรัฐ เพิ่มให้ตัวเองอีก 1 รายการ นอกจากนั้นก็ยังมีโอกาสได้เข้าร่วมทีมชาติชุด เฟดคัพ และได้สร้างผลงานการแข่งขันในระดับประเทศอยู่บ้าง และปีต่อมา พัชรินทร์ สามารถกลับมาร่วมทีมชาติอีกครั้งในชุด ซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ พร้อมกับสร้างผลงานคว้า 2 เหรียญทองแดง จากคู่ผสม และ หญิงคู่
จากผลงานในทีมชาติที่คว้าเหรียญทองแดงมาได้ตลอดจนถูกตั้งฉายาว่า “เจ้าแม่เหรียญทองแดง” นี่เอง ที่ทำให้ พัชรินทร์ ตั้งเป้าหมายให้ตัวเองอย่างแรงกล้าว่า เธอจะต้อง ติดทีมชาติชุดซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่เวียดนามจะเป็นเจ้าภาพ เพื่อจะ “ล้างอาถรรพ์” สลัดคำว่า “เจ้าแม่เหรียญทองแดง” ออกจากตัวเองให้ได้
“พอสมาคมฯ เปิดให้คัดทีมชาติชุดซีเกมส์หนูรีบสมัครเลย หนูตั้งใจมากกับรายการนี้ เพราะหนูอยากติดซีเกมส์ อยากไปแข่งเพื่อพิสูจน์ตัวเอง เหรียญทอง คือ เป้าหมายเดียวที่หนูอยากได้ และต้องทำให้ได้ เพื่อจะล้างอาถรรพ์ให้ตัวเอง หนูไม่อยากได้เหรียญทองแดงอีกแล้ว”
ขณะที่อนาคตในการเล่นเทนนิสอาชีพ พัชรินทร์ บอกว่า ความฝันอยากเข้าท็อป 100 ของโลกยังมีอยู่ในใจเสมอ แม้จะรู้ว่าโอกาสอาจจะเกิดขึ้นได้ยาก แต่อนาคตข้างหน้าเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง และไม่มีใครรู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น แต่การได้วางแผนและตั้งเป้าหมายก็เปรียบเสมือนการกำหนดเส้นทางให้ตัวเองก้าวเดินและรู้จักหน้าที่ของตัวเอง
“หนูไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร หนูรู้แค่เพียงว่าที่หนูมีทุกวันนี้ได้ก็เพราะเทนนิส รู้ว่าตัวเองตัดสินใจไม่ผิด เทนนิส นอกจากสร้างรายได้ให้หนูแล้วยังทำให้หนูเป็นคนมีวินัย รู้จักมารยาทในการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม ทำให้หนูเข้มแข็ง มีความอดทน รู้จักวางแผนชีวิต และหนูจะยังทำต่อไป”
“หนูเริ่มต้นจากศูนย์ ใช้เงินทุนของแม่ ไม่มีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนแต่หนูก็สู้ ลุยไปกับเทนนิส แม้วันนี้จะยังไปไม่ถึงเป้าหมาย แต่หนูก็คิดว่า มันคุ้มค่ามากกับสิ่งที่เสียไป”
การเปลี่ยนจากสิ่งที่ขาดมาเป็นการลุกขึ้นสู้ด้วยตัวเอง ทำให้ พัชรินทร์ ยังไม่หยุดที่จะฝัน ไม่รู้สึกท้อเวลาพบเจออุปสรรค เพราะเธอผ่านความยากลำบากทุกอย่างมาหมดแล้ว
และ พัชรินทร์ เชื่อว่าด้วยพรแสวงนี่เองที่จะเป็นกุญแจนำทางให้ทุกย่างก้าวนับจากนี้จะยิ่งแข็งแกร่งมากพอที่จะพาไปสู่ความสำเร็จมากยิ่งขึ้น
…………………………………
ประวัติ :ชื่อ : พัชรินทร์ ชีพชาญเดช (อีฟ)
วันเกิด : 13 ธันวาคม 2537 (อายุ 27 ปี)
ภูมิลำเนา : จ.ขอนแก่น
คุณพ่อชื่อ : นายดุสิต ชีพชาญเดช
คุณแม่ชื่อ : จินตนา ไชยสังข์
พี่น้อง : 1 คน (พี่สาว)
การศึกษา : ปริญญาตรีมหาลัยวิทยาลัยทองสุข
เริ่มเล่นเทนนิส : อายุ 9 ขวบ
โค้ชคนแรก : นายสุรศักดิ์ ชีพชาญเดช
โค้ชปัจจุบัน : นายวัชรพงษ์ เอี่ยมละออ
สไตล์การเล่น : Agressive baseliner
ผลงานที่ผ่านมา : แชมป์เทนนิสอาชีพหญิง ไอทีเอฟ เวิลด์ ทัวร์ 15,000 เหรียญสหรัฐ 3 รายการ, 1เงิน, 1ทองแดงกีฬามหาลัยวิทยาลัยโลก ที่ไต้หวัน, 2 ทองแดง ซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ฟิลิปปินส์, 1ทองแดง เอเชียนอินดอร์แอนด์มาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ที่เติร์กเมนิสถาน
ติดทีมซีเกมส์ : ครั้งที่ 2
เป้าหมายซีเกมส์ : เหรียญทอง
เป้าหมายเทนนิสอาชีพ : ท็อป 100