เตรียมเสนอรัฐบาลปลดล็อคแข่งกีฬาอาชีพมิ.ย.นี้”เทนนิส”วางความพร้อมเข้มก่อนเปิดสนามหวดส.ค

Written by LTAT Admin

เตรียมเสนอรัฐบาลปลดล็อคแข่งกีฬาอาชีพมิ.ย.นี้”เทนนิส”วางความพร้อมเข้มก่อนเปิดสนามหวดส.ค. ตามที่การกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) โดยนายทนุเกียรติ จันทร์ชุม ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย กกท.ได้เป็นประธานการประชุมร่วมกับ 13 ชนิดกีฬาอาชีพ เพื่อหารือถึงแนวทาง เสนอแผนงาน ดำเนินงาน และ มาตรการในการจัดการแข่งขัน เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลในการเตรียมการผ่อนปรน หรือ ปลดล็อคการแพร่เชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 ระยะที่ 3 ในวันที่ 4 มิถุนายนนี้ โดยมีผู้แทนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, ผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรคติดต่อ และสมาคมกีฬาอาชีพ 13 สมาคมเข้าร่วม ซึ่งในส่วนของกีฬาเทนนิส นายไทยทนุ วรรณสุข เลขาธิการสมาคมกีฬาเทนนิส ลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมเสนอแผนงาน การดำเนินงาน และ มาตรการการป้องกันโควิด-19 สำหรับการแข่งขันอย่างละเอียด ทั้งนี้ยังมี นายกิตตน์สมบัติ เอื้อมมงคล นายกสมาคมฯ เข้าร่วมประชุมในฐานะคณะกรรมการกีฬาอาชีพด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีผู้จัดการแข่งขันกีฬาอาชีพได้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้อย่างพร้อมเพรียง สำหรับแผนงาน ดำเนินงาน และมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 ของสมาคมกีฬาเทนนิสฯ หลังมีการปลดล็อคให้กลับมาจัดการแข่งขันได้นั้นมีแนวทางดังนี้ การแข่งขันเทนนิสอาชีพชาย-หญิง รายการ “ไทยแลนด์ แชมป์เปี้ยนชิพ” (รายการอาชีพระดับประเทศ) มีแข่งขัน 5 สนาม โดยสนามที่ 1 แข่งขันวันที่ 16-22 สิงหาคม 2563, สนามที่ 2 วันที่ 6-12 กันยายน 2563,สนามที่ 3 วันที่ 12-18 กันยายน 2563,สนามที่ 4 วันที่ 18-24 กันยายน 2563 และ สนามที่ 5 วันที่ 24-30 กันยายน 2563 ขณะเดียวกันได้มีการวางมาตรการจัดการแข่งขันกีฬาใหม่ที่ปรับเปลี่ยนจากเดิม คือ 1.จำกัดผู้เข้าร่วมการแข่งขันเพื่อลดความแออัดและไม่มีจำนวนมากเกินไป โดยสายการแข่งขันรอบเมนดรอว์ 32 คน และในรอบคัดเลือก 32 คน 2. การเปลี่ยนแดนจะเปลี่ยนแดนหลังจบเซต โดยนักกีฬาจะเดินคนละฟากของสนาม 3. ลูกเทนนิส นักกีฬาจะหยิบจับเฉพาะลูกเทนนิสที่ทำสัญลักษณ์ว่าเป็นของตนเท่านั้น เพื่อไม่ให้มีการสัมผัสลูกเทนนิสร่วมกัน 4. ผู้กำกับเส้น มีการจำกัดจำนวนผู้กำกับเส้นเพื่อลดความแออัดและไม่มีจำนวนมากเกินไปจะใช้สนามละ 1 คน และ 2 คนในรอบชิงชนะเลิศ 5. เด็กเก็บบอล มีการจำกัดจำนวน เด็กเก็บบอลเพื่อลดความแออัดและไม่มีจำนวนมากเกินไป โดยจะใช้สนามละ 2 คน และต้องสวมถุงมือยางในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ 6. ผู้ติดตามนักกีฬา (โค้ชหรือผู้ปกครอง) มีการจำกัดจำนวนผู้ติดตามนักกีฬาเพื่อลดความแออัด และไม่มีจำนวนมากเกินไป ต้องไม่เกิน 1 คน ต่อนักกีฬา 1 คน 7. ผู้ชมการแข่งขัน จะแข่งขันในระบบปิด ไม่ให้มีผู้เข้าชม และผู้สนใจสามารถรับชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันผ่านทาง Facebook Live หรือช่องยูทูป 8. สื่อมวลชนที่เข้ามาทำข่าวการแข่งขัน มีการจำกัดจำนวนสื่อมวลชนเพื่อลดความแออัดและไม่มี จำนวนมากเกินไป โดยจะไม่เกิน 3 คนต่อวัน ซึ่งสมาคมฯจะมีการส่งข่าว ต่อภาพนิ่ง และ วิดีโอการแข่งขันกระจายให้สื่อมวลชนในทุกวันที่มีการแข่งขัน 9. เจ้าหน้าที่สนาม มีการจำกัดจำนวนเจ้าหน้าที่สนาม เพื่อลดความแออัดและไม่มีจำนวนมากเกินไป โดยจะมีนักกายภาพบำบัด 2 คน, แม่บ้านรักษาความสะอาด 3 คน, รปภ. 2 คน 10. การชำระค่าสมัครการแข่งขันให้ชำระเงินผ่าน QR code หรือโอนเงินระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินสด 11. เจ้าหน้าที่ประสานงานนักกีฬาต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยและใส่เฟชชิลล์ตลอดเวลา รวมทั้งมีฉากป้องกัน นอกจากนี้ยังได้วางมาตรการความปลอดภัยในการเข้า-ออกสนามอย่างเคร่งครัด ดังนี้ 1.มีการจำกัดให้มีการเข้า-ออกทางเดียว 2.จัดให้มีจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ใช้บริการ ก่อนเข้าไปใช้บริการ ทั้งนี้ อุณหภูมิร่างกายต้องมีค่าไม่เกิน 37.5 องศา แล้วติดสติกเกอร์สีต่างๆ (สีสติกเกอร์จะเปลี่ยนทุกวันเพื่อการตรวจสอบ) หากมีอุณหภูมิร่างกายเกิน 37.5 องศา สมาคมฯ จะนำไปพบแพทย์ 3.ทุกคนจะต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 4. ต้องสแกน QR Code ทุกคน เพื่อเช็คอิน-เช็คเอาท์ หรือจดบันทึกการเข้า-ออก ทุกครั้ง (ตามข้อกำหนดของ ศบค.) ขณะที่มาตรการในบริเวณพื้นที่ส่วนกลางโดยรอบสนาม มีดังนี้ 1.ทุกคนจะต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา (ยกเว้นนักกีฬาที่อยู่ระหว่างการแข่งขัน) 2. เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล อย่างน้อย 2 เมตร 3. แจกเจลแอลกอฮอล์ 70% แบบพกพาให้นักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขัน โดยสามารถนำขวดกลับมาเติมได้ 4.มีจุดล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ 70% ตามจุดต่างๆ 5.มีจุดบริการถุงดำไว้ใส่เสื้อผ้านักกีฬาหลังจากแข่งขันเสร็จ 6.มีจุดบริการถุงพลาสติกไว้ใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยหลังจากใช้เสร็จ 7.มีจุดทิ้งขยะตามจุดต่างๆ และมีการกำจัดขยะทุกวัน 8.ที่พักนักกีฬา,ผู้ตัดสิน,เด็กเก็บบอล และเจ้าหน้าที่สนาม อยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง มีอากาศถ่ายเท และที่นั่งมีการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร 9.เว้นระยะห่างที่นั่งบนอัฒจันทร์หรือจุดชมการแข่งขันของผู้ติดตามนักกีฬา อย่างน้อย 2 เมตร 10.ทำความสะอาดพื้น ทางเดิน ราวบันได ลูกบิดจับประตู หรือเคาน์เตอร์ ด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยา ทำความสะอาดฆ่าเชื้อ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง 11. ทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องส้วม ด้วยผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาดหรือน้ำยาฟอกขาวทุก 2 ชั่วโมง 12. ร้านอาหารจะไม่จำหน่ายอาหารแบบนั่งทานจะจำหน่ายเพียงการห่อไปทาน โดยผู้สั่งอาหารจะต้อง ไปทานในที่พักประจำของตนเอง และร้านอาหารต้องปฏิบัติตามมาตรการร้านอาหาร/เครื่องดื่ม ส่วนมาตรการในสนามแข่งขัน(ของ ศบค.)มีดังนี้ 1. นักกีฬาจะสามารถถอดหน้ากากอนามัยได้ เมื่อเริ่มอบอุ่นร่างกายก่อนการแข่งขันจนกระทั่งแข่งขันเสร็จสิ้น 2. เด็กเก็บบอล จะต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และสวมถุงมือยางทุกครั้งในขณะปฏิบัติหน้าที่เก็บบอลในสนาม 3. นักกีฬาต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ทำการแข่งขันก่อนและหลังทำการแข่งขัน และหากเป็นไปได้ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ช่วงพักระหว่างการแข่งขันด้วย 4. นักกีฬาใช้อุปกรณ์การแข่งขันของตัวเองเท่านั้น เช่น ไม้เทนนิส, ลูกเทนนิส,ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น โดยลูกเทนนิสจะมีการทำสัญลักษณ์ของตนเองไว้ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสลูกเทนนิสของฝ่ายตรงข้าม 5. เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร ระหว่างบุคคลในสนามแข่งขัน 6. ไม่มีการสัมผัสมือกันระหว่างผู้เล่น หรือกับเจ้าหน้าที่ในสนาม 7. มีเจลล้างมือแอลกอฮอล์ 70% ในทุกสนามที่ใช้ทำการแข่งขัน 8. แม่บ้านรักษาความสะอาด จะเข้าทำความสะอาดอุปกรณ์ประจำสนามทุกครั้งภายหลังจบการแข่งขันในแต่ละคู่ ทั้งนี้ นายกิตตน์สมบัติ เอื้อมมงคล นายกสมาคมกีฬาเทนนิสฯ กล่าวว่า ในส่วนของกีฬาเทนนิสทางผู้แทนกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาและผู้แทนจากกรมควบคุมโรคติดต่อได้แจ้งว่าสามารถจัดการแข่งขันได้แต่ต้องจัดการแข่งขันในระบบปิดที่ไม่มีผู้ชม และปฏิบัติตามมาตรการหลักรวมทั้งข้อกำหนดในการป้องกันการแพร่กระจายโรคของ สบค.อย่างเคร่งครัด หรือมีมาตรการอื่นเพิ่มเติมเพื่อเน้นในด้านความปลอดภัยและไม่ให้เกิดโรคแพร่กระจายขึ้นเป็นหลัก ซึ่งสมาคมกำลังยกร่างแนวทางสำหรับการจัดแข่งขันเพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้จัดการแข่งขันในระดับต่างๆที่สมาคมให้การรับรองเพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อไป “ถือเป็นข่าวดีของนักกีฬาเทนนิสที่จะสามารถกลับมาแข่งขันได้ แต่ผมยังคิดว่าจะยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะ เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศของสหพันธ์เทนนิสนานาชาติที่จะให้การแข่งขันเทนนิสทั่วโลกกลับมาแข่งได้ตั้งแต่สิ้นเดือนกรกฎาคม แม้ในประเทศไทยสามารถจัดได้แล้วแต่ผมมองว่านักกีฬาเพิ่งจะได้ลงสนามซ้อม ต้องใช้เวลาในการปรับตัวกับการแข่งขันในรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยช่วงนี้ผมก็อยากให้นักกีฬาได้ฝึกซ้อมและปรับตัวกับรูปแบบใหม่ให้คุ้นชิน เพื่อพร้อมกับการแข่งให้มากที่สุด และสมาคมก็หวังว่าทุกคนจะร่วมใจกันปฎิบัติตัวตามมาตรการที่สมาคมวางไว้รวมถึงที่ภาครัฐกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยของทุกๆคน” นายกิตตน์สมบัติ กล่าว

LTAT