รู้จัก Tennis Elbow อาการเจ็บที่เลี่ยงยากแต่รักษาได้
รู้จัก Tennis Elbow อาการเจ็บที่เลี่ยงยากแต่รักษาได้
คนที่เล่นเทนนิสจำนวนมากมักจะมีอาการเจ็บข้อศอกที่เรียกกันว่า Tennis Elbow หรือศัพท์ทางการแพทย์ Lateral Epicondylitis เกิดจากการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกระดกข้อมือขึ้น ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่นักเทนนิสเท่านั้น การเล่นแบดมินตัน หรือช่างที่ใช้เครื่องมืออย่างไขควง, สว่านในการทำงานอยู่เป็นประจำ และคนที่พิมพ์งานกับคีย์บอร์ดอยู่สม่ำเสมอ ก็มีอัตราเสี่ยงจะเจออาการนี้เล่นงานทั้งสิ้น
คนที่เป็น Tennis Elbow จะมีอาการปวดปุ่มกระดูกด้านนอกของข้อศอกในจังหวะที่ขยับข้อมือ อาจจะร้าวไปจนทั่วแขนหรือไปจนถึงข้อมือ หรือถ้ากดบริเวณเอ็นกล้ามเนื้อใกล้กับปุ่มกระดูกด้านนอกของข้อศอกแล้วมีอาการเจ็บก็เป็นหนึ่งในจุดบ่งชี้ของอาการนี้ ถ้าเป็นเรื้อรังหรือปล่อยไว้เป็นเวลานาน อาจจะมีอาการกล้ามเนื้อข้อศอกอ่อนแรงด้วย
วิธีการรักษามีอยู่หลายขั้นตอน ในช่วงแรกที่มีอาการ ควรหยุดพักการใช้แขนข้างนั้นไปก่อน เลี่ยงการที่จะทำให้มีอาการกำเริบขึ้นมา ประคบเย็นบริเวณที่ปวด 15-20 นาที หรือถ้าจำเป็นจะต้องใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่มีสเตียรอยด์ ในการช่วยลดอาการปวดและลดการอักเสบ
สำหรับผู้ที่ที่มีอาการอย่างต่อเนื่อง อาจจะใช้วิธีการ Platelet Rich Plasma (PRP) หรือการสกัดเกล็ดเลือด โปรตีนฮอร์โมนกระตุ้นการเติบโต และเซลล์จากกระแสเลือด แล้วฉีดกลับเข้าไปยังส่วนที่ได้รับการบาดเจ็บหรือมีการอักเสบ ซึ่งจะช่วยในการสมานแผลและซ่อมแซมเนื้อเยื่อส่วนที่บาดเจ็บ
Prolotherapy Injection คือ การฉีดกลูโคสเข้าไปที่บริเวณกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมเร่งกระบวนการฟื้นฟูและรักษาตามธรรมชาติ
การทำกายภาพบำบัดก็ช่วยได้เช่นกัน
Shockwave Therapy เป็นการส่งผ่านคลื่นกระแทกเข้าไปยังบริเวณที่มีอาการบาดเจ็บ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดกระบวนการซ่อมแซมและสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมา
High Power Laser Therapy เป็นหนึ่งในการบำบัดที่ฟื้นฟูเอ็นกล้ามเนื้อได้ดีอย่างมาก ขั้นตอนจะเป็นการกระตุ้นปลายประสาท ยับยั้งกระบวนการปวด ลดอาการปวดบวมและอักเสบ การใช้เลเซอร์ทำให้เกิดความร้อน ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว มีผลในการนำเลือดและออกซิเจนมาเลี้ยงเซลล์มากขึ้น เร่งการจำกัดของเสีย ช่วยลดการอักเสบ การปรับพลังงานของเซลล์จากการเลเซอร์ เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้การฟื้นฟูดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
Ultrasound Therapy ช่วยรักษาอาการบาดเจ็บของเส้นเอ็นหรือเนื้อเยื่อ เร่งกระบวนการซ่อมแซม โดยจะเพิ่มการไหลเวียนเลือด เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ลดอาการปวดเเละการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
แต่ถ้าวิธีการรักษาข้างต้นไม่ดีขึ้นในระยะเวลา 6-12 เดือน แพทย์ก็อาจจะรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดได้
การเล่นเทนนิสหรือกีฬาอื่นๆ เป็นกิจกรรมที่ดีต่อสุขภาพ แต่ถ้ารู้สึกเจ็บหรือมีอาการผิดปกติของร่างกาย ก็ควรหยุดพักและรักษาให้ถูกวิธี เพื่อจะได้เล่นเทนนิสไปได้อีกนานๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.rehabcareclinic.com/?fbclid=IwAR3kgXmCC-KMh6zziQlqynl5GcIbWmMxdYUQDabBrtyHWO5eClsGuOhv2K4
ภาพจาก hwww.utahorthopediccenters.com และ www.chicagotribune.com