ถอดความคิดเด็ก 14 ปี”แตะเตี้ยม” ปริยากร ศรีสุริยาพัฒน์กุลใช้ความรู้ในห้องเรียน.. ผลิตเครื่องทุ่นแรงในสนามเทนนิส
นับเป็นความภูมิใจของครอบครัวชาวเทนนิสไทย เพราะเราไม่ได้มีแค่ผลผลิตที่เก่งด้านกีฬา แต่ล่าสุดยังมี “เยาวชนคนเก่ง” ที่โดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สามารถออกแบบ “เครื่องเก็บลูกเทนนิส” และร่วมกับเพื่อนในกลุ่ม ต่อยอดสู่การผลิตให้ใช้งานได้จริง
เยาวชนคนเก่งที่เอ่ยถึงคือ “แตะเตี้ยม” ด.ญ.ปริยากร ศรีสุริยาพัฒน์กุล สาวน้อยวัย 14 ปี จาก “เมืองยุทธหัตถี” จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ของโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย จังหวัดสุพรรณบุรี โดย ปริยากร อยู่ห้องสมาร์ท หลักสูตรวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
การสร้าง “เครื่องเก็บลูกเทนนิส” เป็นผลผลิตที่ได้มาจากการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ประเภทสิ่งประดิษฐ์ ในห้องเรียน โดย ปริยากร อยู่ทีมเดียวกับ ด.ช.ภูธนดล หงษ์โต และ ด.ญ.ภัทรวดี โพธิ์เตียน
“ตอนแรกจะทำเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 เพราะตอนนั้นกำลังระบาด แต่หลังจากคิดไปคิดมา มันใช้งานไม่ได้จริง จึงเปลี่ยนมาดูเรื่องใกล้ตัว ก็มีกีฬาเทนนิสที่เราเล่นอยู่ ตอนเก็บลูกจะช้ามาก เดินไปเก็บทีละหลายๆ ลูกก็หนัก บางทีก็ต้องรบกวนคุณพ่อคุณแม่มาช่วยเก็บ หนูสงสารพ่อกับแม่ค่ะ ก็เลยลองเสนอกับเพื่อนๆ ว่า เรามาทำเครื่องเก็บลูกเทนนิสกันไหม เพื่อนๆ ก็เห็นด้วยค่ะ” น้องปริยากร เล่า
คุณพ่อและคุณแม่ที่ น้องปริยากร เอ่ยถึงคือ คุณพ่อปรีชา และคุณแม่มณฑนา ศรีสุริยาพัฒน์กุล ผู้อยู่เบื้องหลังความเก่งกาจของลูกสาวคนนี้ ซึ่งเรียนได้เกรดเฉลี่ย 4.00 ตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 1 จนถึงปัจจุบัน โดย น้องปริยากร ทำคะแนนได้เป็นอันดับ 1 ในการสอบเข้า ร.ร.กรรณสูตศึกษาลัย ห้อง สสวท. ไม่นับรวมอีก 2 โรงเรียนที่สอบติดแต่สละสิทธิ์ไปคือ ร.ร.สามเสนวิทยาลัย (สอบติดอันดับที่ 21 จากนักเรียนทั้งหมด) และ ร.ร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี
และในระดับประถมศึกษา (เรียนที่ ร.ร.อนุบาลสุพรรณบุรี) น้องปริยากร ยังฉายแววเรียนดี ซึ่งปี 2559 สอบแข่งขันวิทยาศาสตร์เพชรยอดมงกุฎ (รอบแรก) ระดับประถม 1-3 ได้อันดับ 50 ของประเทศไทย, ปี 2562 ผลสอบ O-NET ระดับประถมศึกษา ได้คะแนน 100 เต็ม 2 วิชา (คณิต/อังกฤษ) ปีเดียวกัน สอบวิทยาศาสตร์ โครงการ สสวท. ระดับประถม 6 (รอบแรก) ได้เหรียญทองของประเทศ จากนั้นปี 2563 ยังได้เหรียญทอง ในการสอบแข่งขันวิชาคณิตศาสตร์นานาชาติ (รอบแรก) ระดับมัธยมศึกษาต้น
กลับมาที่เรื่อง “เครื่องเก็บลูกเทนนิส” ซึ่ง น้องปริยากร เล่าว่า ใช้หลักการเดียวกับเครื่องดูดฝุ่น ใช้ลมดูด และมีกระเป๋าเก็บลูกเทนนิส พยายามปรับรูปแบบไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะแหล่งพลังงาน จนกระทั่งสามารถใช้งานได้จริง
“ขั้นตอนแรกคือการออกแบบ ซึ่งวาดแบบในไอแพด พอหนูวาดแบบเสร็จแล้ว ได้ส่งให้ช่างลงมือประกอบ ตอนแรกแรงดูดไม่พอ ก็ปรับจนดูดลูกบอลได้ และตอนแรกจะใช้แบตเตอรี่ แต่ไม่สามารถทำได้เพราะต้องใช้แบตเตอรี่หลายลูกมากค่ะ มันหนักเกินไป สุดท้ายก็เลยใช้ไฟฟ้าไปก่อนเพราะทำให้ตัวเครื่องมีน้ำหนักเบาลง ในอนาคต หนูจะปรับปรุงเรื่องเสียง และพัฒนาเรื่องแหล่งกำเนิดไฟ เพราะบางสนาม อาจไม่สะดวกเรื่องการใช้ไฟฟ้า อาจจะปรับมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ แทนค่ะ” น้องปริยากร อธิบายให้ฟัง
เจ้าเครื่องที่ว่านี้ สามารถใช้งานได้จริง ซึ่ง “แตะเตี้ยม” การันตีด้วยตัวเอง หลังจากได้นำไปใช้งานที่สนามเทนนิส ช่วยลดระยะเวลาในการเก็บลูกเทนนิส ทุ่นแรงทุ่นเวลาเพราะปกติต้องเดินไปเก็บทีละลูกแต่เจ้าเครื่องนี้สามารถดูดเข้าไปได้ทีละหลายลูก ไม่ต้องเหนื่อยมากเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการฝึกซ้อม ขณะที่เพื่อนในกลุ่มเรียนด้วยกันก็ได้ทดลองใช้แล้วเช่นกัน นอกจากนี้ยังได้รับความสนใจจากคุณครูวิชาพลศึกษา ร.ร.กรรณสูตศึกษาลัย ขอนำเครื่องนี้ไปช่วยเก็บลูกปิงปองด้วย
กระซิบถามคุณแม่มณฑนาว่า เลี้ยงลูกอย่างไรถึงเรียนเก่ง ได้คำตอบว่า ใช้หลักการ “การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน” (Brain based Learning: BBL) คือนำความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสมอง มาออกแบบการเรียนรู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเรียนของเด็กแต่ละช่วงวัย เช่น พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่เขายังอ่านเองไม่ได้ ให้ลูกได้อ่านตำราเรียนก่อนเปิดเทอม ไม่ได้ให้ลูกเรียนพิเศษ ให้ลูกท่องจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษ วันละ 5 คำ ตั้งแต่อนุบาลจนถึงประถม 6 (คุณแม่ทำบัตรคำศัพท์ให้ลูก เสร็จแล้วส่งต่อให้โรงเรียนเอาไปใช้ต่อ) และตามหลักการ BBL แล้ว ยังเชื่อมโยงมาถึงการพัฒนาด้วยการเคลื่อนไหว ซึ่งครอบครัวนี้เลือกใช้กีฬาเทนนิส เพราะอยากให้ลูกๆ มีร่างกายที่แข็งแรง
“คุณแม่บอกกับหนูว่า คนเล่นกีฬาเทนนิส จะเรียนหนังสือเก่ง” น้องปริยากร บอกด้วยความใสซื่อ ทำให้คุณแม่ถึงกับอมยิ้มแล้วตอบเสริมว่า ยอมรับว่าเป็นการโกหกลูก แต่เพราะอยากให้ลูกเล่นกีฬา อยากให้ลูกมีร่างกายที่แข็งแรง จึงได้บอกไปแบบนั้น ซึ่งโชคดีที่ “แตะเตี้ยม” ก็เล่นเทนนิสได้ดี เช่นเดียวกับพี่ชายของเธอ “ติ่มซำ” ด.ช.ศุภวิชญ์ ศรีสุริยาพัฒน์กุล ซึ่งเลี้ยงมาในหลักการเดียวกัน ก็ทำได้ดี ไม่เฉพาะแค่เรื่องกีฬา แต่เรื่องเรียนก็ดีเด่นเช่นกัน โดยโค้ชคนแรกที่สอน “แตะเตี้ยม” ตั้งแต่หัดจับแร็กเก็ตคือ ณัฐนันท์ นันทตระกูล ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว และปัจจุบัน “แตะเตี้ยม” เป็นลูกศิษญ์ของ “โค้ชเอ็กซ์” พชรพล คำสมาน
ผลงานของ “แตะเตี้ยม” ที่การันตีเรื่องเทนนิสมีหลายรายการด้วยกัน แต่ที่ต้องหยิบมาเอ่ยถึงคือ การได้เป็นตัวแทนเยาวชนทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี ไปแข่งขันกับเพื่อนร่วมทีมชาติ และได้รางวัลชนะเลิศ หรือ “แชมป์” ประเภททีมหญิง รายการ “เซาท์ อีสต์ เอเชีย รีเจียนัล ควอลิฟายอิ้ง อีเวนท์ : ไอทีเอฟ เอเชีย อันเดอร์ ทเวลฟ์ ทีม คอมเพทติชั่น” จนได้เป็นตัวแทนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ระดับเอเชีย ที่ประเทศคาซัคสถาน ก่อนจะร่วมทีมไทยได้อันดับ 4 กลับมา
และรายการล่าสุดที่ “แตะเตี้ยม” เพิ่งคว้ามาครองได้หมาดๆ คือ แชมป์ประเภทหญิงเดี่ยวและหญิงคู่ คนเดียวเหมา 2 แชมป์ จากการแข่งขันเทนนิสเยาวชน รายการ “แอลทีเอที เอเชี่ยน โฟร์ทีน แอนด์ อันเดอร์ 2021” ครั้งที่ 1 ปัจจุบัน “แตะเตี้ยม” เป็นนักเทนนิสเยาวชนในโครงการ LTAT ของสมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งเป็นการสนับสนุนของ ปตท. หรือ PTT และเธอมี “มาร์ติน่า ฮินกิส” ตำนานนักเทนนิสหญิงชาวสวิส อดีตมือ 1 ของโลก เป็นไอดอล ขณะที่เป้าหมายใหญ่ใกล้สุดคือ การติดทีมชาติไทยชุดเยาวชน ประจำปี 2564 ที่จะมีการแข่งขันเทนนิสเพื่อการคัดเลือก ระหว่างวันที่ 5-10 เม.ย.2564 ณ ศูนย์พัฒนากีฬาเทนนิสแห่งชาติ เมืองทองธานี
…..
น่าปลื้มใจไม่น้อยกับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของ “แตะเตี้ยม” เยาวชนคนเก่งแห่งวงการกีฬาลูกสักหลาดเมืองไทย เพราะสิ่งที่เธอและเพื่อนๆ ช่วยกันประดิษฐ์ขึ้นมานั้น หากมีการต่อยอดและพัฒนา ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ก็สามารถนำมาใช้ในสนามเทนนิสทั่วไปได้
ในขณะที่เส้นทางการเล่นกีฬานั้น หากสาวน้อยคนนี้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการแข่งขันและพัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าเมื่อถึงวัน เวลา และวัยที่เหมาะสม อาจมีชื่อ “ปริยากร ศรีสุริยาพัฒน์กุล” ในนามนักเทนนิสหญิงจากประเทศไทย ติดอันดับโลกของ ดับเบิลยูทีเอ ถ้าเธอไม่ถอดใจจากเทนนิสไปเสียก่อน และถ้ามีวันนั้นจริงเราอาจมี นักเทนนิสและนักวิทยาศาสตร์ ในคนๆ เดียวกัน ก็เป็นได้…